การเข้าสู่หลักธรรม


เอาละ ให้ตั้งใจฟัง มีอะไรขัดข้องไหม มีอะไรไหม ง่วงไหม

การฟังธรรมนั้นก็เพื่อความเข้าใจในธรรมะ แล้วก็จะต้องนำไปปฏิบัติให้ไปถึงในสิ่งที่เรามีความมุ่งหมาย อย่าเข้าใจว่าพอฟังธรรมแล้วก็จะดีเลยทีเดียว ในการฟังธรรมนั้น พื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือจะต้องประกอบไปด้วยสถานที่ ประกอบไปด้วยเวลา ประกอบไปด้วยบุคคล และประกอบไปด้วยธรรมะ

อย่างสถานที่ในวัดของเรานี้มันเป็นป่า มันมีความสงบ เมื่อพูดอะไรออกไป ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแทรก มันเป็นสถานที่อันสมควร ส่วนสถานที่อันไม่สมควร เช่น คนร้องเพลงก็ร้องเพลงไป คนเล่นก็เล่นไป มันก็วุ่นวาย จะเอาพระไปพูดตรงนั้นก็ไม่สมควร หลวงพ่อเคยไปงานมงคลแต่ไม่ใช่งานมงคลหรอก เป็นงานอมงคลเสียมากกว่า พอจะให้รับศีลให้ฟังเทศน์ เขาก็ไม่สนใจในศีลในเทศน์ คนเล่นก็เล่น คนกินเหล้าก็กินสารพัดอย่าง มานิมนต์พระไปเทศน์ตรงนั้นก็เรียกว่า สถานที่ไม่สมควร บุคคลนั้นก็ไม่สมควร ไม่ควรจะวางธรรมเทศนาในที่ตรงนั้น ในการฟังธรรมนั้นให้เราเป็นผู้ฟัง เพราะอะไร? เพราะเรายังไม่รู้ชัด ก็ต้องเป็นผู้ฟัง ฟังไปเถอะ ฟังแล้วก็เอาไปพิจารณา อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันถูกแน่นอน และอย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันผิด ให้ฟังแล้วเอาไปกลั่นไปกรองเสียก่อน คือ เอาไปภาวนา เอาไปพิจารณา เราเรียกว่า ภาวนา ในภาษาธรรมะ ภาษาโลกก็เรียกว่า พิจารณา เมื่อมาเข้าถึงธรรมะ ท่านก็เรียกว่าภาวนา ภาวนาหมายถึง ทำให้มันถูกขึ้น ทำให้มันดีขึ้น ทีนี้เมื่อเราจะฟังธรรมเทศนานั้น ก็เหมือนประหนึ่งว่าจะย้อมผ้า โดยปกติเราก็ต้องเอาผ้าไปฟอก ไปซักให้มันสะอาด แล้วจึงเอามาย้อมด้วยสีที่เราชอบ ไม่ใช่เราไปเห็นสีมันสวยเราชอบ ก็จะเอามาย้อมผ้าของเราให้มันสวย แต่ผ้าที่จะย้อมไม่ได้ฟอกได้ซัก เราก็เอามาย้อมเลย อย่างนั้นมันก็ไม่สวย เพราะผ้ามันไม่ดี มันไม่สะอาดการที่เราจะเข้าสู่หลักธรรมก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำใจให้สะอาดเป็นพื้นฐาน อย่างเช่นที่หลวงพ่อให้ถึงพระรัตนตรัยเสียก่อน แล้วก็มาสมาทานศีล แล้วจึงมาฟังธรรมอย่างนี้

(๑) เบื้องต้นให้มีพระรัตนตรัยเป็นรากฐาน

การให้ถึงพระรัตนตรัย ก็คือ การให้ถึงพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ พระพุทธคืออะไร พระพุทธก็คือ "ผู้รู้" รู้อะไร รู้ความจริงความจริงคืออะไร ความจริงก็คือ ธรรมะ

ส่วนพระสงฆ์ก็คือ ผู้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะ ที่พระศาสดาได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นความจริงฉะนั้น นั่งอยู่แถวๆนี้ก็เป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ได้หมายถึงเครื่องแต่งตัว แต่มันหมายถึงผู้ปฏิบัติตามธรรมะ ปฏิบัติตามความจริงนั้น รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธหนึ่ง พระธรรมหนึ่งพระสงฆ์หนึ่ง ท่านให้ถือว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น อย่างพ่อแม่ของเราเป็นผู้เลี้ยงเรามา เราก็เคารพบูชาพ่อแม่ของเรา แต่ก็ต้องไม่ยิ่งไปกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าพ่อแม่ของเราก็ยังมีความเห็นผิดมากอยู่ ถ้าจูงเราเข้าป่า เราจะทำอย่างไร แต่เราก็ไม่ได้ดูถูกพ่อแม่ของเรา ถ้าจะว่าไปแล้ว พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี นี่เป็นชื่อของผู้ประกาศความจริงเท่านั้นแหละ

ความจริงถ้าย่อลงมาแล้วก็คือท่านให้เชื่อ กรรม คือ การกระทำของเรา เราจะกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ เฉพาะอะไรที่มันไม่เป็นโทษ ปราศจากโทษทั้งหมด ถึงแม้ว่ามันจะมีอะไรหลายๆอย่าง ในโลกที่ว่ามันน่าอัศจรรย์ก็ดี ที่น่าเลื่อมใสก็ดี น่าอะไรต่างๆก็ดี อันนี้ก็ตามใจมันเถอะ

แต่พระพุทธเจ้าของเราท่านก็ว่า กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้าเรากระทำทางกาย ก็เรียกว่ากายกรรม กระทำทางวาจาก็เรียกว่าวจีกรรม กระทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม ท่านให้เชื่ออันนี้คือเชื่อในการกระทำของเรา

บางคนเป็นผู้มาปฏิบัติธรรม ฟังธรรม เข้าวัดเข้าวา แต่เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจ บางทีก็ไปหาหมอดู จะไปดูว่ามันจะเป็นอะไรไหมหมอดูก็ทายว่าปีนี้ระวังนะ ไปรถให้ระวัง ไปเรือก็ให้ระวัง ระวังอุบัติเหตุนะ เราก็กลัว กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้สารพัดอย่าง บางคนเมื่อจะออกจากบ้าน หรือจะออกเดินทาง ก็ว่าจะไปวันไหนดี จะต้องไปหาหมอว่าจะออกวันไหน เวลาเท่าไร บางทีหมอก็ว่าคุณอย่าไปเลย ไม่ดี เราก็เลยกลับบ้าน นี่เรียกว่าไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย ไปเชื่อหมอดู อย่างพวกเราบางคนมาอยู่อุบลฯ จะไปกรุงเทพฯ ก็มาหาหลวงพ่อ "หลวงพ่อครับ เดินทางวันไหนจะดีครับ" "ถ้าเดินดีมันก็ดีทุกวันนั่นแหละ" คือ ถ้าเราดีมันก็ดีทุกวัน แต่นี่พอเจอหน้ากันก็ต้องเลี้ยงต้องกินเหล้าเมายากัน เมื่อไปมันก็เลยไม่ดี ขับรถมันก็จะตกถนน ถ้าเราทำดีแล้วมันจะเป็นอะไร เราเชื่อการกระทำของเรา อันอื่นจะมาทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีหรอก เราทั้งหลายต้องมีความเชื่อมั่นในการกระทำของเรา ไม่มีความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย อย่าถือมงคลตื่นข่าว

มงคลตื่นข่าวนั้นมันเป็นอมงคล เขาว่ามันเป็นอย่างนั้น เขาว่ามันเป็นอย่างนี้ สารพัดอย่างบางทีก็ว่าต้องไปเอาน้ำในสระตรงนั้นมานะ เลยวุ่นไปหากัน จนน้ำในสระเป็นเลนหมด เอากันอยู่นั่นแหละ นี่มันตื่น พระพุทธองค์ท่านสอนให้เป็นคน "นิ่งอยู่ด้วยปัญญา" ใครเขาจะว่าอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นอันนี้มันเป็นอย่างนี้ ก็ให้ฟังไว้ก่อน การทำจิตใจอย่างนี้ท่านเรียกว่า"ทำให้มันแยบคาย" มันก็จะเกิดความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ไม่มีความลังเลสงสัย มิฉะนั้นก็จะไม่รู้จักความจริง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ การมีพระรัตนตรัยเป็นรากฐาน เป็นที่พึ่งของเรา จะทำให้ใจของเราแน่วแน่ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง เราทำดีเท่านั้นแหละ ไม่ต้องลังเลสงสัย การที่ไม่ลังเลสงสัยนี่แหละ เรียกว่า มันเดินอยู่เรื่อยไปแต่ถ้ามีความสงสัยแล้ว มันก็จะกลับไปกลับมา กลับมากลับไปวุ่นวายอยู่ตรงนั้น

(๒) สมาทานศีลเป็นคุณสมบัติ

เมื่อถึงพระรัตนตรัยแล้ว ก็มาสมาทานรับศีล ผิดศีลมันดีไหมเราลองคิดดูให้ละเอียด อย่าเข้าข้างเราเข้าข้างใคร

การไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์ มันดีไหม

การไม่ขโมยของคนอื่นนั้นมันดีไหม ให้เราคิดดูเท่านี้ก็รู้

และพวกที่มีครอบครัวแล้วนั้น อยู่ในวงจำกัดของเรามันดีไหม หรืออยู่นอกวงมันดี ดูเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดไกล ถามดูง่ายๆ

และมุสา การพูดโกหกนั้นมันดีไหม คิดให้มันซึ้งๆ เข้าทางธรรมะ อย่าไปเข้าข้างเรา ไม่ต้องไปศึกษาอะไรมาก

ข้อที่ห้า เครื่องมึนเมา คนที่ปราศจากเครื่องมึนเมามันดีไหม อย่าเข้าข้างเจ้าของนะ

ทั้งหมดนี้เรียกว่า เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ถ้าหากว่าใครมีคุณสมบัติทั้งห้าประการนี้ เราก็ไม่ต้องไปถามใครหรอกว่า ฉันเป็นอะไร อย่างพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านเป็น สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ที่ว่า สุปฏิปันโน ก็คือ ผู้ปฏิบัติดี ดีกาย ดีวาจา ดีใจ เป็นคุณสมบัติของท่าน เป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ เราก็เลยเรียกผู้นั้นว่า"พระสงฆ์" อุชุปฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติตรง ตรงกาย ตรงวาจา ตรงใจด้วยธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติของพระ ญายปฏิปันโน คือ การปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติไม่ลวงโลกปฏิบัติตามสัจจธรรม ถ้าหากว่าเป็นสัจจธรรมแน่นอนแล้ว ใครจะว่าดีว่าชั่วก็ช่างเถอะ เราทำของเราไปเรื่อยๆ บางทีเขาก็บอกว่า โอ๊ย! ท่านอย่าไปทำเลย เดี๋ยวนี้โลกเขาไม่ทำอย่างนั้นหรอก เราก็ไม่ได้หวั่นไหวไปตามเขา สามีจิปฏิปันโน คือ ปฏิบัติเอาศีล สมาธิ ปัญญา คำสอนของพระมาเป็นใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญาติโยมพวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้ จะทำอะไรๆก็ให้ตรวจดูพื้นฐานนี้เสียก่อน อันนี้เรื่องพระ-รัตนตรัยต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้

(๓) ฝึกปฏิบัติอบรมจิต

ส่วนเรื่องการปฏิบัตินั้น ทุกวันนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่มาเที่ยว มาสนใจในการปฏิบัติ ได้ไปพบหลายๆแห่งไปพบอาจารย์นี้ท่านก็ว่าให้ทำอย่างนั้น ไปพบอาจารย์นั้นท่านก็ว่าให้ทำอย่างนี้ เลยวิ่งตลอดเวลาเลย คือ มันไม่เชื่อมั่น มันไม่เข้าใจ การปฏิบัติกรรมฐานอย่างน้อยมันก็มีตั้งสี่สิบข้อ เราไปเรียนกัน มันก็หลายเกินไป เลยไม่รู้จะทำอะไร ยกพุทโธๆๆขึ้นมาภาวนา ใจมันก็ไม่สงบ ก็ไปดึงอันอื่นมาทำอีก เอาอันโน้นบ้างอันนี้บ้าง เลยวุ่นไปหมดไม่รู้เรื่อง ก็เลยเลิก อย่างนี้ก็มี ฉะนั้น การทำกรรมฐานจึงต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทำไปทำไม ทำให้มันเกิดอะไร มันมีประโยชน์อะไรไหม

การทำกรรมฐานนี้ก็คือ มาฝึกจิตของเรานั่นเอง เพื่อให้รู้จักจิตใจของเรา เพราะจิตของเราเกิดขึ้นมาไม่เคยได้ฝึก ปล่อยตามใจของมัน เมื่อมันโมโหก็ปล่อยตามใจของมัน เมื่อมันโกรธใคร ก็ปล่อยตามเรื่องของมัน เราเป็นเด็กๆ เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ยิ่งปล่อยตามใจ ไม่เคยรู้จิต ไม่เคยฝึกจิต เราจึงมาทำกรรมฐาน มาฝึกจิต รู้จักที่จะอบรมจิตของเรา เรียกว่ามาปฏิบัติธรรม แต่ใจของเรานั้นมันเร็ว เร็วที่สุด เร็วกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งนั้น เมื่อเรามาทำกรรมฐาน มันจึงไม่ค่อยสงบ ความสงบมันจะเกิดขึ้นตรงไหนความสงบนี้มันจะเกิดขึ้นระยะที่เราปล่อยวาง ถ้าเราตึงเครียดเมื่อไรมันจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่มีความสงบภายในจิต

ดูอย่างพระอานนท์ท่านเป็นผู้รู้ธรรมะมากที่สุด เมื่อจะเอาจริงๆ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหน อันนั้นมันก็ดี อันนี้มันก็ดี เลยดีกันทั้งคืน ยิ่งตอนเช้าพรุ่งนี้เขาจะเรียกพระอรหันต์ทำการสังคายนา รวมทั้งพระอานนท์ด้วย ก็ยิ่งร้อนใจ ยังมีเวลาอีกคืนเดียวเท่านั้น ก็เลยเร่งเต็มที่อยากจะเป็นพระ-อรหันต์ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไปกันใหญ่ จวนจะสว่างอยู่แล้ว ก็ว่า "เอ เรานี่มันตึงเครียดไปละมั้งนี่" เหนื่อยก็เหนื่อย ง่วงก็ง่วง ก็เลยจะพักผ่อนสักระยะหนึ่ง พอท่านทอดอาลัยเอนกายนอน มีตัวรู้อันเดียว พอจิตมันวางปุ๊บเท่านั้นแหละ มันเร็วที่สุด พระอานนท์ท่านตรัสรู้เวลานั้นในเวลาที่ว่าง

พวกเราลองดูซิ ไปนั่งกรรมฐาน กัดฟันเข้า! ขัดสมาธิยันเลย ตายเป็นตาย เหงื่อมันไหลแหมะๆ ความสงบไม่ใช่มันอยู่ตรงนั้น ความสงบนั้นมันอยู่ที่พอดีๆ มันจะดีขนาดไหนมันก็ไม่สงบถ้ามันดีเกินดี มันไม่ดีพอดี มันเกินไป มันดีไม่พอ ดีขนาดไหนก็ให้พอดี มันถึงดี ดีเกินดี มันไม่ดีหรอก ให้พวกเราเข้าใจอย่างนั้น แต่คนเราตัณหามันก็ว่า ต้องทำอย่างเฉียบขาด ไปนั่งกัดฟันลองดูซิไม่มีทางหรอก วุ่นตลอดเวลา

(๔) สงบความคิดด้วยสมถะ

เรื่องกรรมฐานนี้มันอยู่ด้วยอารมณ์คือ ให้มี "อารมณ์อันเดียว" อย่างเช่น เราจะดูลมหายใจเข้าออก ก็ให้จิตกำหนดอยู่กับอารมณ์นี้ เราอยู่ในโลกมันหลายอารมณ์เกินไป เดี๋ยวจะเอาอันนั้นอันนี้ไม่มีจบจึงวุ่นวาย จิตไม่สงบ ทีนี้ท่านว่ามันเกิดกับอารมณ์ มันอยู่ด้วยอารมณ์เราก็เลยเอา "อารมณ์อันเดียว" เล่นอันเดียว อย่าไปเล่นอันอื่น เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน เช่น หายใจออก หายใจเข้า หายใจออกหายใจเข้า หรือให้เข้าพุท ออกโธ ก็ได้ พุทโธๆๆ หรือว่าเข้าออก จะไม่ว่าพุทโธก็ได้ เมื่อเข้ามันก็ "พุท" เอง เมื่อออกมันก็ "โธ" เอง มันได้ความว่าเมื่ออาการของลมมันเข้าเราก็รู้จัก เมื่อมันออกเราก็รู้จัก คือเป็นผู้รู้ มันเข้าเราก็รู้ มันออกเราก็รู้ ตรงรู้นี่แหละมันเป็นพุทโธอยู่แล้วไม่ต้องว่าพุท ไม่ต้องว่าโธ ไม่ต้องว่าพุท ไม่ต้องว่าโธ มันก็ขี้เกียจจะว่าอีกนั่นแหละ เข้าใจไหม?

หรืออย่าง ยุบหนอ พองหนอ อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่เราจะไม่ต้องว่ายุบหนอพองหนอก็ได้ เราหายใจออกมันก็ยุบเอง หายใจเข้ามันก็พองเอง มันไม่ต้องไปว่ายุบว่าพอง ที่เราว่ายุบว่าพอง คือ ให้มันออกเสียงในใจสักหน่อย มันจะได้ตั้งใจขึ้นมาความเป็นจริงมันยุบมันพองของมันเองอยู่แล้ว แต่เราก็เอาคำว่า ยุบหนอ พองหนอ เสริมเข้ามาอีก ไม่มีผิด อันนี้ก็ไม่มีผิด แต่รวมแล้วก็คือ ให้เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ตามสบายของมันเท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเมื่อไรหนอมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะวุ่นวาย ให้เราตั้งสติขึ้น ให้มันจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น จนใจมันผ่องใส ไม่มีง่วงเหงา ไม่มีเหน็ดเหนื่อย ให้มันเห็นชัดอยู่อย่างนั้น เมื่อเราจะฝึกจิตอย่างนี้นั้น เรารู้ไหมว่าจิตของเราคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าเราจะมาฝึกจิตก็ควรจะต้องรู้จิตของเรา บางทีเราไม่รู้จักเมื่อเวลามันวุ่นวายขึ้นมา เราก็รู้แต่ว่ามันวุ่นวาย แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน

ถ้าเราจะพูดเข้าไปจริงๆแล้ว จิตนี้มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็คือจิตนั่นแหละ เมื่อเขาเอาชื่อ "จิต" เข้ามาแทรกเราก็เลยหลง จิตนี้มันคืออะไรหนอ พูดง่ายๆว่า คนที่รับรู้อารมณ์นั่นแหละคือจิต คนที่รับรู้อารมณ์ ทั้งอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สารพัดอย่างนี่แหละ สมมติว่าเป็นจิต ถ้านำมันไปฝึกแล้วมันรู้จริง มันก็เป็น "พุทโธ" คือ ผู้รู้ เป็นผู้รู้จริง คือรู้แล้วไม่มีทุกข์ แต่ถ้าจิตนี้ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม มันก็เป็นผู้รู้ไม่ได้ เพราะมันมี "ผู้หลง" มาปนเปมันอยู่ คือถ้าชอบใจมันก็ดีใจถ้าไม่ชอบใจมันก็เสียใจอย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงต้องเอามันมาฝึกให้มันรู้เท่าทันอารมณ์ จนกว่าที่จิตมันจะสงบ เมื่อมันสงบมันก็ไม่ไปไหน มันขี้เกียจจะไปเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ความสงบอย่างนั้นยังไม่มีปัญญาอะไร เข้าไปสงบอยู่เฉยๆ เรียกว่า สมถะ ความสงบอย่างนี้มันไม่แน่นอน บางทีเราได้มันเป็นบางครั้ง บางทีวันนี้มันสงบ พรุ่งนี้ไปทำมันก็ไม่สงบ เราก็ว่า "เอ เมื่อวานทำไมมันสงบดีเหลือเกิน วันนี้ทำไมไม่ได้เรื่องได้ราวมันเป็นอะไรหนอ"

ถ้าไปตะครุบมันอยู่อย่างนี้ ความสงบตอนนั้นไม่รู้เรื่องเสียแล้วเป็นความสงบที่ไม่แน่นอน เช่นว่า หูของเรามีอยู่ เรื่องรับมีอยู่ แต่เมื่อยังไม่มีใครมาพูด มาด่าให้เราได้ยิน เราก็ยังสบาย ยังสงบอยู่ อีกวันหนึ่งพอมีเรื่องเข้าไปทางหูเท่านั้น มันก็เกิดความไม่สงบขึ้นมาแล้วฉะนั้น ความสงบนั้นจึงเป็นความสงบ เพราะมันปราศจากอารมณ์ต่างๆ มันก็สงบเฉยๆ อยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่เมื่อมีอารมณ์ต่างๆผ่านมาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดขึ้นมา เกิดดีใจ เกิดเสียใจขึ้นมา เกิดชอบใจไม่ชอบใจขึ้นมาเลยวุ่น อันนี้เพราะความสงบนั้นเป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน ไม่ใช่เรื่องของปัญญา มันสงบเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่เด็ดขาด คือ มันไม่ได้สงบเพราะรู้ตามความเป็นจริง เหมือนใบไม้บนต้นไม้ เมื่อไม่มีลมมาพัด มันก็สงบนิ่ง แต่ถ้ามีลมมาพัดก็กวัดแกว่ง ความสงบอันนี้มันจึงมีอายุสั้น ที่มันสงบอยู่ก็เพราะอาศัยอารมณ์ที่มันไม่เปลี่ยนแปลง ท่านเรียกว่า "สงบจิต" ไม่ใช่ว่า "สงบกิเลส"

(๕) ปล่อยวางละด้วยวิปัสสนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความสงบเช่นนั้น สติมันก็จะค่อยดีขึ้นมาจะเห็นอะไรชัดขึ้นกว่าที่ไม่ได้ทำความสงบ แล้วก็สร้างปัญญา สร้างวิปัสสนาให้มันเกิด ให้มันแจ้งขึ้นมา ต่อไปเราจะเข้าใจว่า เมื่อตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง เป็นต้น ฉันจะให้มีความสงบ คือ ทำจิตให้มันรู้เรื่องมากขึ้น ให้รู้ชัดด้วยปัญญา มีความสงบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องหล่อเลี้ยงปัญญาให้มันเกิดขึ้น อะไรจะทำให้ปัญญาเกิด ก็ให้อาหารมันสิ เหมือนเอาข้าวเอาน้ำให้เรา เราก็โตขึ้นมา ปัญญามันจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยอารมณ์เหมือนกัน แต่ต่างจากสมถะ สมถะนั้นเช่นว่า พุทโธๆ หรือลมหายใจเข้าออก แค่นี้มันก็สงบได้ แต่ว่าอาหารของปัญญาไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเปลี่ยนอาหารให้มัน เช่น แม้เราจะทำความสงบเกิดขึ้นมาได้ เราก็ต้องชี้มัน บอกมันว่า "อันนี้มันก็ไม่เที่ยง"มันจะชอบขนาดไหน ก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่เที่ยง บอกเท่านี้แหละปัญญามันก็จะโตขึ้นมา ทำไมมันถึงโต เพราะมันมองเห็นความไม่เที่ยงตลอดตามที่เราพิจารณาอยู่ แต่เมื่อยังไม่มีปัญญา จิตหรือผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น อันนั้นเขาว่าดีก็ไปตะครุบเอา มันก็กัดเอา อันนี้ว่าไม่ดีก็ตะครุบเอา มันก็กัดเราเท่านั้นแหละ ดีมันก็กัดเอา ไม่ดีมันก็กัดเรา แต่ถ้าเมื่อมันเกิดขึ้นมาเราก็ว่า "อันนี้มันไม่แน่" ไม่ตะครุบมัน มันก็ไม่กัดเราหรอก ดูไปอยู่เรื่อยๆ มองดูข้างหน้าข้างหลังก็เห็นว่ามันไม่เที่ยง มันไม่แน่นอนสักอย่าง เมื่อเห็นชัดเช่นนี้ อารมณ์ทุกอย่างมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นความยึดมั่นอุปาทานมันก็น้อยเข้ามาๆ จนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นตาธรรมดา เป็นหูธรรมดา มีความรู้สึกธรรมดา สักแต่ว่ามันชอบ สักแต่ว่ามันไม่ชอบ สักแต่ว่ามันทุกข์ สักแต่ว่ามันสุข มีแต่สักแต่ว่าเท่านั้นมันก็ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมดาในตัวของมันเอง ปัญญามันเห็นชัดอย่างนี้ เรียกว่า วิปัสสนา คือ ความรู้ตามความเป็นจริง รู้แล้วมันวางไม่ตะครุบเดี๋ยวมันกัด แต่ก่อนนี้ผู้รู้อารมณ์นั้น มันมีความสำคัญมั่นหมาย ยึดมั่นถือมั่น แต่เมื่อจิตมันเห็นชัด ปัญญามันเกิดเห็นสัจจธรรมตามความเป็นจริงแล้ว มันก็มีการปล่อยวางในตัวของมันถ้าเป็นเด็กมันก็โตขึ้นมาบ้างแล้ว มันเปลี่ยนการให้อาหารแล้ว การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ จึงเรียกว่า การปฏิบัติธรรม

(๖) พิจารณาหลักสัจจธรรม

พระพุทธองค์ท่านก็เคยได้พิจารณาในเรื่องความเกิด ท่านก็สงสัยว่า ความไม่เกิดมันจะมีไหมหนอ? แต่ท่านก็มาพิจารณาว่า มันมีมืด มันก็มีสว่าง มันมีสว่าง แล้วมันก็มีมืด ฉะนั้น เมื่อมีเกิดมันก็ต้องมีไม่เกิดเหมือนกัน ท่านก็พิจารณาอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปเรียนคัมภีร์อยู่ที่ไหน อย่างเช่น เราไปสอบวิชาหนึ่งที่เขาเขียนปัญหาให้เราตอบ เราตอบไม่ได้ แต่มันก็มีคำตอบหรือข้อเฉลยอยู่ ถ้าไม่มีข้อเฉลยมันมีปัญหาไม่ได้หรอก เราจึงต้องค้นมันตรงนั้น ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงไม่ทรงท้อใจ เพราะเมื่อความเกิดมันมี ความไม่เกิดมันก็ต้องมีแน่ท่านก็ทำไปๆจนเห็นชัดขึ้นมา ท่านพบว่า ความเกิดก็คือ ความที่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เป็นภพเป็นชาติติดต่อกันไป เป็น ปฏิจ-จสมุปบันธรรม เช่น ต้นลำไยต้นหนึ่งอยู่ที่หน้าบ้านของเรา เราก็ว่าเป็นของเรา ไปดูอยู่ทุกวัน เดินไปเดินมาก็ว่านี่ต้นลำไยของเรา ทีนี้อีกต้นหนึ่งอยู่หน้าบ้านคนอื่น เราก็ไม่ได้นึกว่าเป็นของเรา มาวันหนึ่งมีคนมาตัดต้นลำไยที่หน้าบ้านของเรา เราก็เป็นทุกข์หลาย เพราะมันตัดของเรา อีกวันหนึ่งเขามาตัดต้นลำไยต้นอื่น หน้าบ้านคนอื่น เราก็ไม่เป็นทุกข์ แค่นี้แหละมันทำให้สุขทุกข์เกิดขึ้นมา อุปาทานเป็นตัวทำให้เป็นทุกข์ เป็นความเกิดขึ้นมาตรงนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้พิจารณาว่าอุปาทานทำให้เกิดภพ ภพทำให้เกิดชาติ ชาติแล้วก็ชราพยาธิ มรณะ นี่พระพุทธองค์ท่านก็เห็นเท่านี้แหละ เห็นชัดแจ้งอย่างนี้แล้วก็หายสงสัย ฉะนั้น เพื่อให้มันเห็นชัด เราจะต้องมาฝึกอบรมจิตของเรา ในตัวบุคคลหนึ่งก็มีจิต หรือผู้ที่รับอารมณ์นี่แหละสำคัญมากที่สุด ถ้าจิตนี้มันหลง มันก็หลงไปหมด ตามันก็หลง หูมันก็หลง ถ้าได้อารมณ์ที่ดีก็ดีใจ ถ้าได้อารมณ์ที่ไม่ชอบก็เสียใจ คือ จิตอันนี้มันยังไม่ได้อบรม การที่เรามาทำกรรมฐานกันนั้น ก็เพื่อมาอบรมจิตนี่แหละ แต่ว่าก็ไม่ใช่ง่ายๆนะโยมนะ มันลำบากเหมือนกัน แต่มันก็ง่ายอยู่ในที่ลำบากนั่นแหละ มันง่ายอยู่ที่มันยากตรงนั้นเอง เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาของเราทุกคน จะต้องให้มันมีความลำบากยากแค้นเสียก่อนไม่ใช่ว่าเรามาทำกรรมฐานปุ๊บ มันก็จะดีเลย ทุกข์มันจะหายเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เราจะต้องทำไปจนกว่ามันจะเห็นชัดอย่างท่านว่า "อนัตตา" แต่เราก็ยังเห็นว่ามันเป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน ไอ้นี่ก็ของฉัน ไอ้นั่นก็ของฉัน นั่นลูกฉัน นั่นสมบัติของฉัน ไปสร้างให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทั้งนั้น แต่พระก็มาเทศน์ให้ฟังว่า มันไม่ใช่ของเรานะ ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ไอ้นั่นก็ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่เข้าใจ บางทีก็จะโกรธพระก็ได้ เรานึกว่าเป็นของเรา แต่ท่านมาเทศน์ว่าไม่ใช่ของเรา เราก็เลยอ่อนใจไม่รู้จะทำไปทำไม เราจึงต้องคิดพิจารณาจนมันเห็นว่า มันเป็น "สมบัติของโลก" ทั้งหมด แล้วทำไมเราจึงงัดแงะจิตใจของเราออกไม่ได้ นี่เพราะมันหลงติดอยู่ในนั้นนั่นเอง ฉะนั้น คำสอนของพระที่เรามาฝึกกันนี้ ก็เพื่อจะไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นมา คือ ไม่ให้ไปสำคัญมั่นหมาย ให้ไปทำลายความรู้สึกว่าเป็นอัตตาอันนี้ แต่คนเราก็ไม่ค่อยจะชอบใจ อย่างเช่น พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า โลกนี้มันเป็นทุกข์ ท่านจึงให้ตัด ไม่อยากให้เกิด แต่พอท่านว่าไม่อยากให้เกิด เราก็ไม่ค่อยพอใจเสียแล้ว ที่ท่านไม่อยากให้เกิดเพราะมันทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นมามันก็มีพร้อม ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มีวุ่นวายหลายอย่าง ท่านจึงให้ตัดภพตัดชาติ คือ ไม่ให้มันเกิด เพราะเมื่อเกิดมาแล้วมันเป็นทุกข์ แต่เราก็ไม่ยอม "ขอเถิด อย่าให้หนีไปเลยขออยู่นี่ล่ะ" อย่างนี้มันจึงวุ่นวาย คือ อะไรที่ท่านว่ามันไม่เที่ยง แต่เราก็อยากให้มันเที่ยง อะไรที่ไม่ใช่ของเรา เราก็อยากให้ใช่ของเรา มันก็เป็นไปไม่ได้ ทีนี้ ถ้าเป็นผู้ที่พ้นทุกข์แล้วอย่างพระอริยเจ้าของเราทุกวันนี้ถ้าหากว่าคนไปเห็นสงสัยจะหาว่าเป็นโรคประสาทก็ไม่รู้ การไปการมา การพูดการจา การกระทำของท่านไม่เหมือนคนที่มีกิเลสตัณหา เราก็ดูไม่ออก อย่างแท่งทองแท่งหนึ่งท่านว่าเป็นดิน แต่เขาก็ว่าเป็นทอง ถ้ามันเสียไปเราก็ร้องไห้ แต่ท่านเห็นว่ามันก็เหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง ถ้าหากว่าบังเอิญเราไปเห็นท่านเขี่ยเอาก้อนทองนั้นทิ้งไป เราก็จะว่า "โอ้ย!คนนี้มันเป็นโรคประสาทละมั้ง" ไม่รู้ใครเป็นโรคประสาทแน่ก็ไม่รู้ นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินี้อาตมาว่า เอาแค่ศีลธรรมเสียก่อน เช่น ถ้ามันโกรธขึ้นมาก็อดไว้ อย่าปล่อยตามใจมันไปเลยหรือถ้ามันอยากขึ้นมามากๆ ก็ตามใจให้มันน้อยๆ ให้พอประมาณ อย่าปล่อยตามมันเต็มที่ ถ้าเราปล่อยมันเต็มที่โลกมันจะแตก ให้อดไว้ให้กลั้น อย่าปล่อยเต็มที่ของมัน ให้มันมีศีลธรรมไว้ เท่านี้ก็เรียกว่ามันสมควรอยู่ล่ะเรา แต่เราก็จะต้องทำกรรมฐานของเราเรื่อยๆไป ให้มันชัดเข้าไป มันก็จะค่อยๆดีขึ้น ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บปั๊บมันจะได้เลย ธรรมปฏิสันถาร เอาละ เรามากันกี่คืนแล้ว ได้อะไรไปบ้างล่ะ ใครนึกอยากจะกลับไปกรุงเทพฯบ้างล่ะ เหนื่อยไหม มีกำไรหรือขาดทุน หรืออยู่ทนความเป็นจริงที่เรามากันนี้มันก็ดี มันละกิเลสได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน ออกจากบ้านมาอยู่อย่างนี้ มันจะมองเห็นสภาพอะไรหลายๆอย่างความรู้สึกนึกคิดมันก็รู้อะไรหลายๆอย่าง คนที่อยู่กับที่จนเกินไป มันก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้กับเขา มันก็ลำบาก ทุกปี ถ้ามาอย่างนี้เรียกว่าไปธุดงค์ก็ได้ ไปธุดงค์เหมือนพระ เอาละพูดเท่านี้แหละ ทีนี้ใครมีปัญหาอะไรจะถาม เดี๋ยวนี้มันพูดหลายไม่ได้ เขาไม่ให้พูดหลายซะแล้ว อาศัยเขาอยู่ มีไหม ขัดข้องอะไรไหม ปุจฉา วิสัชนา มีปัญหาขอถามอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับท่านอาจารย์คือ ท่านอาจารย์เองเกิดความสนใจในธรรมะนี้ตั้งแต่เมื่อไร หรือเพิ่งเกิดความสนใจตอนมาบวชหรืออย่างไร อ๋อ ตอนมาบวชพระนี่นะหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันมีปัจจัย มีนิสัยปัจจัย เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่โกหกใคร ชอบนิสัยตรงไปตรงมาอยู่เสมอ อย่างเช่น แบ่งของกันนะ ไปหาเงินมา หรือไปหาอะไรมาเมื่อมาแบ่งกัน ก็ชอบเอาน้อยกว่าเขา เกรงใจเขา เป็นอย่างนี้เรื่อยๆมาจนตลอดมา เมื่อธรรมชาติอันนี้มันแก่ขึ้นมา มันก็เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นอยู่นั่นแหละ เรามีความคิดอย่างนี้เมื่อไปถามเพื่อน เขาก็ไม่เคยคิด มันเป็นของมันเอง เรียกว่ามันเป็นวิบาก ทีนี้ เมื่อเราพิจารณามันเรื่อยๆ มันก็โตของมันเรื่อยๆ มันเป็นเหตุให้ทำอย่างนี้ มันเป็นเหตุให้คิดอย่างนี้ อย่างเมื่อตอนเด็ก ถ้าจะเล่นกันแล้วชอบจะเป็นนาย เด็กอื่นๆต้องเป็นลูกน้อง บางทีไปเล่นคิดอยากจะเป็นพระ ก็ตั้งตัวเป็นพระขึ้น พวกเด็กอื่นๆ เราก็ให้เป็นอุปัฏฐาก ถึงเวลาก็ตีระฆังเพลเก๊งๆๆ แล้วก็ให้เอาน้ำมากิน มันเป็นอย่างนี้ นิสัยมันเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ แล้วก็มาในระยะหนึ่งโตขึ้นมาอายุสักประมาณสิบห้าสิบหก เบื่อ ไม่อยากอยู่กับพ่อกับแม่ คิดอยากจะไปเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมมันถึงคิดอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นมาหลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไรก็ไม่รู้ อยากไปคนเดียว อยากไปไหนๆอันนี้เป็นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเราก็ได้มาบวชพระ อันนี้มันเป็นนิสัย แต่ว่าอันนี้เราก็ไม่รู้มันใช่ไหม แต่ว่าอาการมันเป็นอย่างนี้ตลอดมา สำหรับท่านพระอาจารย์ตอนถึงคราวปฏิบัติจะฝึกตนเอง เกิดมีปัญหาอะไรไหม โอ้หลาย มันมีหลายปัญหาในชีวิตนี้ มันพูดไม่จบล่ะ มากที่สุดวันปฏิบัตินะ ทุกข์มาก เช่น บางวันอยู่ตามป่า ฝนตกทั้งคืน นั่งเปียกคิดถึงชีวิตเจ้าของแล้วก็นั่งร้องไห้ น้ำตาก็ไหล ทั้งดีใจด้วย ทั้งมีศรัทธา ทั้งเสียใจ บอกไม่ถูกตรงนี้ แต่ก็ไม่หยุด ใจมันกล้ามากที่สุด ทีนี้ถามถึงตอนท่านอาจารย์มาบวชแล้ว ถึงเวลามันก็บวชได้ เราค่อยๆทำไป แต่ว่าให้มีความสนใจอยู่เสมอ เรื่อยๆไป เราจะทำอะไร เช่น มีความรักรูปก็พิจารณา มีความเกลียดรูปก็พิจารณา มันเป็นของไม่แน่นอนทั้งสองอย่าง พิจารณาเรื่อยไปจนกว่ามันจะเห็นชัด คนเรานั้นมันไปติดในความสุข ความทุกข์มันจึงเป็นเหตุ อย่างเช่นเรื่อง กาม กามนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เหมือนกันกับคนกินเนื้อสัตว์ เมื่อเนื้อมันเข้าไปติดฟันเจ็บปวด เราก็ไปเอาไม้จิ้มมันออก ก็อ้า สบาย อีกสักหน่อยก็คิดอยากอีก แล้วก็มากินอีก เนื้อมันยัดเข้าไปในซีกฟัน ก็ปวดอีก ก็หาไม้มาแหย่มันออกโอ้ สบายอีกแล้ว แล้วก็อยากอีก นี่เรียกว่ามันไม่รู้จัก เอาละนะ เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็พอนะ เอาพอปานนี้แหละ




กลับหน้าหลัก

ที่มา : http://archive.org/details/VenAjahnChah | บทสำหรับอ่าน | เสียงธรรมเทศนาต้นฉบับภาษาอิสาน