โอวาทบางตอน สมมุติและวิมุติ |
ท่านทั้งหลายได้นับถือพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรมในพระพุทธศาสนา จากครูบาอาจารย์มาก็มาก
ซึ่งบางท่านก็สอนอย่างพิสดารกว้างเกินไป จนไม่ทราบว่าจะกำหนดเอาไปปฏิบัติได้อย่างไร
บางท่านก็สอนลัดเกินไป จนผู้ฟังยากที่จะเข้าใจ เพราะว่ากันตามตำรา
บางท่านก็สอนพอปานกลาง ไม่กว้างและไม่ลัด เหมาะที่จะนำไปปฏิบัติ จนตัวเองได้รับประโยชน์จากธรรมนั้นๆ พอสมควร
อาตมาจึงใคร่อยากจะเสนอข้อคิดและปฏิบัติ ซึ่งเคยดำเนินมา และได้แนะนำศิษย์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ บางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจอยู่บ้างก็อาจจะเป็นไปได้
ผู้จะเข้าถึงพุทธธรรม ผู้ที่จะเข้าถึงพุทธธรรมนั้นเบื้องต้นจะต้องทำตนให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่เป็นประจำและเข้าใจความหมายของคำว่าพุทธธรรมต่อไปว่า
พุทธะ หมายถึงท่านผู้รู้ตามเป็นจริง จนมีความสะอาด สว่าง สงบ สว่างในใจ
ธรรม หมายถึงตัวการความสะอาด สงบ สว่างได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงพุทธธรรม ก็คือคนเข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง
ตามธรรมดาการที่บุคคลจะไปถึงบ้านถึงเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวนอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินทางให้ถูกทางด้วย จึงจะมีความสะดวกและถึงที่หมายได้ หากเดินผิดทางเขาจะได้รับอุปสรรค เช่น พบขวากหนาม เป็นต้น และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรือบางทีอาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง ไม่มีวันที่จะเข้าถึงบ้านได้ เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้วจะต้องขึ้นอยู่อาศัยพักผ่อน หลับนอน เป็นที่สบายทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์ ถ้าหากเป็นแต่เพียงเดินเฉียดบ้านหรือผ่านบ้านไปเฉยๆ คนเดินทางผู้นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา ข้อนี้ฉันใด การเดินทาง เข้าไปถึงพุทธธรรมนั้นก็เหมือนกัน ทุกๆคนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินแทนกัน และต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาดสงบสว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา กางแผนที่ออกดูอยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ ผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่าๆ ปล่อยประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านไปเลย
ครูบา-อาจารย์เป็นผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลายได้ฟังแล้วจะเดินหรือไม่เดิน และจะได้รับผลมากน้อยเพียงใด มันเป็นเรื่องเฉพาะตน
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอยายื่นขวดยาให้คนไข้ ข้างนอกขวด เขาเขียนบอกสรรพคุณของยาไว้ว่า แก้โรคชนิดนั้นๆ ส่วนตัวยาแก้โรคนั้นอยู่ข้างในขวด ที่คนไข้มัวอ่านสรรพคุณของยาที่ติดไว้ข้างนอกขวด อ่านไปตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง คนไข้ผู้นั้นจะต้องตายเปล่าโดยไม่ได้รับประโยชน์ จากตัวยานั้นเลย และเขาจะมาร้องตีโพยตีพายว่าหมอไม่ดี ยาไม่มีสรรพคุณ แก้โรคอะไรก็ไม่ได้ เขาจึงเห็นว่ายาที่หมอให้ไว้ไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งๆที่ตัวเองไม่เคยเปิดจุกขวดรินยาออกกินเลย เพราะมัวแต่ไปติดใจอ่านฉลากยาซึ่งติดอยู่ข้างขวดเสียเพลิน แต่ถ้าหากเขาเชื่อหมอ จะอ่านฉลากครั้งเดียว หรือไม่อ่านก็ได้ แต่ลงมือกินยาตามคำสั่งของหมอ ถ้าคนไข้เป็นน้อยเขาก็หายจากโรค แต่ถ้าหากเป็นมาก อาการของโรคก็จะทุเลาลง และถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไปเอง ที่ต้องกินยามากและบ่อยครั้งก็เพราะโรคเรามันมาก เรื่องนี้เป็นธรรมดาเหลือเกิน
ดังนั้น ท่านผู้อ่านจงใช้สติปัญญา พิจารณาให้ละเอียดจริงๆ จึงจะเข้าใจดี พวกแพทย์ พวกหมอ เขาปรุงยา ปราบโรคทางกายจะเรียกว่าสรีระโอสถก็ได้ ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้านั้นใช้ปราบโรคทางใจ เรียกว่าธรรมโอสถ
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงเป็นแพทย์ผู้ปราบโรคทางใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โรคทางใจเป็นได้ไว และเป็นได้ทุกคนไม่เว้นเลย เมื่อท่านรู้ว่าท่านเป็น ไข้ใจ จะไม่ใช้ธรรมโอสถรักษาบ้างดอกหรือ
พิจารณาดูเถิด การเดินทางเข้าถึงพุทธรรมมิใช่เดินด้วยกาย แต่ต้องเดินด้วยใจ จึงจะเข้าถึงได้ ได้แบ่งผู้เดินทางออกเป็น ๓ ชั้น คือ
ก. ชั้นต่ำ ได้แก่ผู้รู้จักปฏิญาณตน เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง อาศัยตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนด้วยดี ละทิ้งประเพณีที่งมงาย ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว จะเชื่ออะไรต้องพิจารณาเหตุผลเสียก่อน คนพวกนี้เรียกว่าสาธุชน
ข. ชั้นกลาง หมายถึงผู้ปฏิบัติจนเชื่อต่อพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้น ไม่เสื่อมคลาย รู้เท่าทันสังขาร พยายามสละความยึดมั่นถือมั่นให้น้อยลง มีจิตเข้าถึงธรรมชั้นสูงขึ้นเป็นขั้นๆ ท่าน เหล่านี้เรียกว่า พระอริยบุคคล คือพระโสดาบันพระสกิทาคามี พระอนาคามี
ค. ชั้นสูง ได้แก่ผู้ปฏิบัติจนกายวาจาใจเป็นพุทธะ เป็นผู้พ้นจากโลก หมดความยึดถืออย่างสิ้นเชิง เรียกว่าพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
ศีลนั้นคือระเบียบควบคุมรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งของชาวบ้านและของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้ว มีอย่างเดียว คือ เจตนา ในเมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอ เพื่อควบคุมใจให้รู้จักละอายต่อการทำชั่วเสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจอยู่ให้ในแนวทางแห่งการปฏิบัติถูกต้อง ที่ควรเป็นศีลอย่างดีอยู่แล้ว
ตามธรรมดาเมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรก และตัวเองก็สกปรกย่อมทำให้จิตใจอึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน ดังนั้น เมื่อศีลไม่บริสุทธิ์ และกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมองขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นใจมิให้บรรลุถึงจุดหมาย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป
การฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิก็คือ การฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติจิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำนบ ทำชลประทานเหล่านี้ ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่าง และใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี่เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด จิตใจที่มีการกั้น การฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน
ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดีย่อมสำเร็จประโยชน์" ดังนี้เป็นต้น
เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้วเราจึงได้อาศัยแรงงานมันทำประโยชน์นานาประการ ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีคุณค่ามากมายกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์และพระอริยสาวกได้เปลี่ยนภาวะ จากปุถุชนมาเป็นพระอริย-บุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป และท่านได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง เหลือประมาณที่เราๆจะกำหนดเพราะพระองค์และสาวกได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้นจิตที่เราฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพทุกอย่าง ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นผู้หุนหันพลันแล่น ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะ
การฝึกจิต มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุด ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป วิธีนั้นเรียกว่า "อานาปานสติภาวนา" คือ มีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ที่สำนักนี้ให้กำหนดลมที่ปลายจมูก โดยภาวนาว่าพุทโธ ในเวลาเดิน จงกรม และนั่งสมาธิก็ภาวนาบทนี้ จะใช้บทอื่น หรือจะกำหนดเพียงการเข้าออกของลมก็ได้ แล้วแต่สะดวก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า พยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้น การเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จึงจะได้ผลไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไปตั้งอาทิตย์ สองอาทิตย์ หรือตั้งเดือนจึงทำอีก อย่างนี้ไม่ได้ผล
พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ภาวิตา พหุลีกตา อบรมกระทำให้มาก คือทำบ่อยๆติดต่อกันไป
การฝึกจิตใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผล ควรเลือกหาที่สงบไม่มีคนพลุกพล่าน เช่น ในสวนหลังบ้าน หรือต้นไม้ที่มีร่มเงาๆแต่ถ้าเป็นนักบวชควรแสวงหาเรือนว่าง (กระท่อม) โคนไม้, ป่า, ป่าช้า, ถ้ำ, ตามภูเขา เป็นที่บำเพ็ญเหมาะที่สุด
เราจะอยู่ที่ใดก็ตาม ใช้สติกำหนดลมหายใจอย่างเดียว แม้จิตใจจะคิดไปเรื่องอื่นก็พยายามดึงกลับมา ทิ้งเรื่องอื่นๆทั้งหมด โดยไม่พยายามคิดถึงมัน รู้ให้ทันกับความคิดนั้นๆ เมื่อทำเข้าบ่อยๆ จิตจะสงบลงเรื่อยๆ
เมื่อจิตสงบตั้งมั่นแล้ว ถอยจิตนั้นมา พิจารณาร่างกาย ร่างกายคือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่ธรรมชาติ ไหลไปตามเหตุ ตามปัจจัยเท่านั้น
สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในลักษณะที่เป็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ทั้งนั้น
ความยึดมั่นต่างๆจะน้อยลงๆ เพราะเรารู้เท่าทันมัน เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้น
เมื่อเราใช้จิตที่ฝึกดีแล้วพิจารณารูปนามอยู่อย่างนี้ ให้รู้แจ้งแน่ชัดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปัญญารู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของสังขาร ก็เกิด เป็นเหตุให้เราไม่ยึดถือหรือหลงใหล เมื่อเราได้อะไรมาก็มีสติ ไม่ดีใจจนเกินไป เมื่อของสูญหายไป ก็ไม่เสียใจจนเกิดทุกข์เวทนา เพราะรู้เท่าทัน เมื่อประสบความเจ็บไข้ หรือได้รับทุกข์อื่นๆก็มีการยับยั้งใจ เพราะอาศัยจิตที่ฝึกมาดีแล้ว เรียกว่ามีที่พึ่งทางใจเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่า เกิดปัญญา รู้ทันตามความเป็นจริง ที่เกิดปัญญาเพราะมีสมาธิ สมาธิจะเกิดเพราะมีศีล มันเกี่ยวโยงกันอยู่อย่างนี้ ไม่อาจแยกออกจากกันไปได้
สรุปได้ความดังนี้
อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจข้อนี้เป็นศีล
การกำหนดลมหายใจได้ และติดต่อกันไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่าสมาธิ
การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า ปัญญา
การทำอานาปานสติภาวนา จึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ
ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสายเอกประเสริฐกว่าทางทั้งหมด เพราะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพาน เมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด
ผลจากการปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ย่อมมีผลปรากฏตามระดับจิตของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ซึ่งแบ่งเป็น ๓ พวก ดังต่อไปนี้
ก. สำหรับสามัญชนผู้ปฏิบัติตาม ย่อมทำให้เกิดความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย ถือเอาเป็นที่พึ่งได้ ทั้งเชื่อตามผลกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จะทำให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนได้กินขนมที่มีรสหวาน
ข. สำหรับพระอริยบุคคลชั้นต่ำ ย่อมมีความเชื่อในคุณพระ รัตนตรัยแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลายเป็นผู้มีจิตใจผ่องใสดิ่งสู่นิพพาน เปรียบเหมือนคนได้กินของหวาน ซึ่งมีทั้งรสหวานและมัน
ค. สำหรับท่านผู้ได้บรรลุอรหันต์ ย่อมมีความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง เพราะเป็นพุทธะแล้ว พ้นจากโลกอยู่จบพรหมจรรย์ เปรียบเหมือนคนได้กินของหวาน ที่มีทั้งรสหวานมัน และหอม
เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระ-พุทธศาสนา เป็นการยากแท้ที่สัตว์ทั้งหลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดีทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์เลย ฉะนั้น ควรจะ ทำตน ให้ เข้าถึง พุทธรรม เสีย แต่ วัน นี้ ขอฝาก ภาษิตว่า "เที่ยว ทาง เวิ้ง เหิงนาน มัน สิค่ำ เมา นำต่าบักหว้า มัน สิช้า ค่ำ ทาง "
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ที่เราสมมุติขึ้นมา เองทั้งสิ้น สมมุติแล้วก็หลงสมมุติของตัวเอง เลยไม่มีใครวาง มันเป็น ทิฐิ มันเป็นมานะ ความยึดมั่นถือมั่น
อันความยึดมั่นถือมั่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะจบได้ มันจบลงไม่ได้ สักที เป็นเรื่องวัฏฏสงสารที่ไหลไปไม่ขาด ไม่มีทางสิ้นสุด ทีนี้ถ้าเรารู้ จักสมมุติแล้ว ก็รู้จักวิมุตติ ครั้นรู้จักวิมุตติแล้ว ก็รู้จักสมมุติ ก็จะเป็น ผู้รู้จักธรรมะอันหมดสิ้นไป
ก็เหมือนเราทุกคนนี้แหละ แต่เดิมชื่อของเราก็ไม่มี คือตอน เกิดมาไม่มีชื่อ ที่มีชื่อขึ้นมาก็โดยสมมุติกันขึ้นมาเอง อาตมาพิจารณาดูว่า เอ! สมมุตินี้ ถ้าไม่รู้จักมันจริงๆ แล้ว มันก็เป็นโทษมาก ความจริงมันเป็นของเอามาใช้ให้เรารู้จักเรื่องราวเฉยๆ เท่านั้นก็พอ ให้รู้ว่าถ้าไม่ มีเรื่องสมมุตินี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะพูดกัน ไม่มีเรื่องที่จะบอกกัน ไม่มีภาษาที่จะใช้กัน
เมื่อครั้งที่อาตมาไปต่างประเทศ อาตมาได้ไปเห็นพวกฝรั่งไปนั่งกรรมฐานกันอยู่เป็นแถว แล้วเวลาจะลุกขึ้นออกไป ไม่ว่าผู้หญิง หรือผู้ชายก็ตาม เห็นจับหัวกัน ผู้นั้นผู้นี้ไปเรื่อยๆ ก็เลยมาเห็นได้ว่า โอ! สมมุตินี้ถ้าไปตั้งลงไว้ที่ไหน ไปยึดมั่นหมายมั่นมัน ก็จะเกิดกิเลสอยู่ที่นั่น ถ้าเราวางสมมุติได้ ยอมมันแล้วก็สบาย
อย่างพวกนายพลนายพันมาที่นี่ ก็เป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ครั้นมาถึงอาตมาแล้วก็พูดว่า “หลวงพ่อกรุณาจับหัวให้ ผมหน่อยครับ” นี่แสดงว่าถ้ายอมแล้วมันก็ไม่มีพิษอยู่ที่นั่น พอลูบหัวให้เขา เขาดีใจด้วยซ้ำ แต่ถ้าไปลูบหัวเขาที่กลางถนนดูซิไม่เกิดเรื่องก็ลองดู นี่คือความยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ฉะนั้น อาตมาว่าการวางนี้มันสบายจริงๆ เมื่อตั้งใจว่าเอาหัวมาให้อาตมาลูบ ก็สมมุติลงว่าไม่เป็นอะไร แล้วก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ ลูบอยู่เหมือนหัวเผือกหัวมัน แต่ถ้าเราลูบอยู่กลางทาง ไม่ได้แน่นอน
นี่แหละเรื่องของการยอม การละ การวาง การปลง ทำได้แล้วมันเบาอย่างนี้ ครั้นไปยึดที่ไหน มันก็เป็นภพที่นั่น เป็นชาติที่นั่น มีพิษมีภัยขึ้นที่นั่น
......................................
พระพุทธองค์ของเราท่านทรงสอนสมมุติ แล้วก็ทรงสอนให้รู้จักแก้สมมุติโดยถูกเรื่องของมัน ให้มันเห็นเป็นวิมุตติ อย่าไปยึดมั่น หรือถือมั่นมัน สิ่งที่มันเกิดมาในโลกนี้ก็เรื่องสมมุติทั้งนั้น มันจึงเป็นขึ้นมา ครั้นเป็นขึ้นมาแล้ว และสมมุติแล้ว ก็อย่าไปหลงสมมุตินั้น ท่านว่ามันเป็นทุกข์ เรื่องสมมุติเรื่องบัญญัตินี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้า คนไหนปล่อย คนไหนวางได้ มันก็หมดทุกข์
แต่เป็นกิริยาของโลกเรา เช่นว่า พ่อบุญมานี้เป็นนายอำเภอ เถ้าแก่แสงชัยไม่ได้เป็นนายอำเภอ แต่เป็นเพื่อนกันมาแต่ไหนแต่ไร แล้ว เมื่อพ่อบุญมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ ก็ เป็นสมมุติขึ้นมาแล้ว แต่ก็ให้รู้จักใช้สมมุติให้เหมาะสมสักหน่อย เพราะเรายังอยู่ในโลก ถ้าเถ้าแก่แสงชัยขึ้นไปหานายอำเภอที่ที่ทำงาน และเถ้าแก่แสงชัยไปจับหัวนายอำเภอมันก็ไม่ดี จะไปคิดว่าแต่ก่อน อยู่ด้วยกัน หามจักรเย็บผ้าด้วยกันจวนจะตายครั้งนั้น จะไปเล่นหัวให้คนเห็นมันก็ไม่ถูกไม่ดี ต้องให้เกียรติกันสักหน่อย อย่างนี้ก็ควรปฏิบัติ ให้เหมาะสมตามสมมุติในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย จึงจะอยู่ด้วยกันด้วยดี ถึงจะเป็นเพื่อนกันมาแต่ครั้งไหนก็ตาม เขาเป็นนายอำเภอแล้ว ต้องยกย่องเขา เมื่อออกจากที่ทำงานมาถึงบ้านถึงเรือนแล้ว จึงจับหัวกัน ได้ไม่เป็นอะไร ก็จับหัวนายอำเภอนั่นแหละ แต่ไปจับอยู่ที่กลางศาลา คนเยอะๆ ก็อาจจะผิดแน่ นี่ก็เรียกว่าให้เกียรติกันอย่างนี้ ถ้ารู้จักใช้ อย่างนี้มันก็เกิดประโยชน์ ถึงแม้จะสนิทกันนานแค่ไหนก็ตาม พ่อบุญมาก็คงจะต้องโกรธ หากว่าไปทำในหมู่คนมากๆ เพราะเป็นนายอำเภอแล้ว นี่แหละมันก็เรื่องปฏิบัติ เท่านี้แหละโลกเรา ให้รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักบุคคล
ท่านจึงให้เป็นผู้ฉลาด สมมุติก็ให้รู้จัก วิมุตติก็ให้รู้จัก ให้รู้จัก ในคราวที่เราจะใช้ ถ้าเราใช้ให้ถูกต้อง มันก็ไม่เป็นอะไร ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง มันก็ผิด มันผิดอะไร มันผิดกิเลสของคนที่แหละ มันไม่ผิดอันอื่นหรอก เพราะคนเหล่านี้อยู่กับกิเลส มันก็เป็นกิเลสอยู่แล้ว นี่เรื่อง ปฏิบัติของสมมุติ ปฏิบัติเฉพาะในที่ประชุม ในบุคคล ในกาล ในเวลา ก็ใช้สมมุติบัญญัติอันนี้ได้ตามความเหมาะสม ก็เรียกว่าคนฉลาด ให้เรารู้จักต้น รู้จักปลาย ทั้งที่เราอยู่ในสมมุตินี้แหละ มันทุกข์เพราะ ความไปยึดมั่นหมายมั่นมัน แต่ถ้ารู้จักสมมุติให้มันเป็น มันก็เป็นขึ้นมา เป็นขึ้นมาได้โดยฐานที่เราสมมุติ แต่มันค้นไปจริงๆ แล้วไปจนถึง วิมุตติ มันก็ไม่มีอะไรเลย
อาตามเคยเล่าให้ฟังว่า พวกเราทั้งหลายที่มาบวชเป็นพระนี้ แต่ก่อนก็เป็นฆราวาส ก็สมมุติว่าเป็นฆราวาส มาบวช สมมุติให้เป็นพระ ก็เลยเป็นพระ แต่เป็นพระเณรเพียงสมมุติ พระแท้ๆ ยังไม่เป็น เป็นเพียงสมมุติ ยังไม่เป็นวิมุตติ นี่ถ้าหากว่าเรามาปฏิบัติให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเหล่านี้เป็นขั้นๆ ไป ตั้งแต่ขั้นโสดา สกิทาคามี อนาคามี ไปจนถึงพระอรหันต์ นั้นเป็นเรื่องละกิเลสแล้ว แต่แม้เป็น พระอรหันต์แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องสมมุติอยู่นั่นเอง คือสมมุติว่าเป็นพระอรหันต์ อันนั้นเป็นพระแท้ ครั้งแรกก็สมมุติอย่างนี้ คือสมมุติว่าเป็นพระ แล้วก็จะละกิเลสเลยได้ไหม ก็ไม่ได้
เหมือนกันกับเกลือนี่แหละ สมมุติว่าเรากำดินทรายมาสักกำหนึ่ง เอามาสมมุติว่าเป็นเกลือ มันเป็นเกลือไหมละ? ก็เป็นอยู่ แต่เป็นเกลือโดยสมมุติ ไม่ใช่เกลือแท้ๆ จะเอาไปใส่แกงมันก็ไม่มี ประโยชน์ ถ้าจะว่าเป็นเกลือแท้ มันก็เปล่าทั้งนั้นแหละ นี่เรียกว่า สมมุติ ทำไมจึงสมมุติ? เพราะว่าเกลือไม่มีอยู่ที่นั่น มันมีแต่ดินทราย ถ้าเอาดินทรายมาสมมุติว่าเป็นเกลือ มันก็เป็นเกลือให้อยู่ เป็นเกลือโดยฐานที่สมมุติ ไม่เป็นเกลือจริง คือมันก็ไม่เค็ม ใช้สำเร็จประโยชน์ ไม่ได้ มันสำเร็จประโยชน์ได้เป็นบางอย่าง คือในขั้นสมมุติ ไม่ใช่ในขั้น วิมุตติ
ชื่อว่าวิมุตตินั้น ก็สมมุตินี้แหละเรียกขึ้นมา แต่ว่าสิ่งทั้งหลาย เหล่านั้นมันหลุดพ้นจากสมมุติแล้ว หลุดไปแล้ว มันเป็นวิมุติแล้ว แต่ก็ยังเอามาสมมุติให้เป็นวิมุตติอยู่อย่างนี้แหละ มันก็เป็นเรื่องเท่านี้ จะขาดสมมุติได้ไหม? ก็ไม่ได้ ถ้าขาดสมมุติแล้ว ก็จะไม่รู้จักการพูดจา ไม่รู้จักต้น ไม่รู้จักปลาย เลยไม่มีภาษาจะพูดกัน
ฉะนั้นสมมุตินี้ก็มีประโยชน์ คือประโยชน์ที่สมมุติขึ้นมาให้เราใช้กัน เช่นว่าคนทุกคนก็มีชื่อต่างกัน แต่ว่าเป็นคนเหมือนกัน ถ้าหากไม่มีการตั้งชื่อเรียกกัน ก็ไม่รู้ว่าพูดกันให้ถูกคนได้อย่างไร เช่นเรา อยากจะเรียกใครสักคนหนึ่ง เราก็เรียกว่า “คน คน” ก็ไม่มีใครมา มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะต่างก็เป็นคนด้วยกันทุกคน แต่ถ้าเราเรียก “จันทร์มานี่หน่อย” จันทร์ก็ต้องมา คนอื่นไม่ต้องมา มันสำเร็จประโยชน์อย่างนี้ ได้เรื่องได้ราว ฉะนั้นได้ข้อประพฤติปฏิบัติอันเกิด จากสมมุติอันนี้ก็ยังมีอยู่
ดังนั้นถ้าเข้าใจในเรื่องสมมุติ เรื่องวิมุตติให้ถูกต้อง มันก็ไปได้ สมมุตินี้ก็เกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ความจริงแท้แล้วมันไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น แม้ตลอดว่าคนก็ไม่มีอยู่ที่นั่น เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้น เกิดมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน เจริญเติบโตด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน ให้ตั้งอยู่ได้พอสมควรเท่านั้น อีกหน่อยมันก็บุบสลายไปเป็นธรรมดา ใครจะห้ามก็ไม่ได้ จะปรับปรุงอะไรก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงเท่านั้น อันนี้ก็เรียกว่าสมมุติ ถ้าไม่มีสมมุติก็ไม่มีเรื่องราว ไม่มีเรื่องที่จะปฏิบัติ ไม่มีเรื่องที่จะมีการมีงาน ไม่มีชื่อเสียง เลยไม่รู้จักภาษากัน ฉะนั้น สมมุติบัญญัติตั้งขึ้นมา เพื่อให้เป็นภาษา ให้ใช้กันสะดวก
เหมือนกับเงินนี่แหละ สมัยก่อนธนบัตรมันไม่มีหรอก มันก็เป็นกระดาษอยู่ธรรมดา ไม่มีราคาอะไร ในสมัยต่อมาท่านว่าเงินอัฐ เงินตรามันเป็นก้อนวัตถุ เก็บรักษายาก ก็เลยเปลี่ยนเสีย เอาธนบัตร เอากระดาษนี้มาเปลี่ยนเป็นเงิน ก็เป็นเงินให้เราอยู่ ต่อไปนี้ ถ้ามีพระราชาองค์ใหม่เกิดขึ้นมา สมมุติไม่ชอบธนบัตรกระดาษ เอาขี้ครั่งก็ได้ มาทำให้มันเหลวแล้วมาพิมพ์เป็นก้อนๆ สมมุติว่าเป็นเงิน เราก็ใช้ขี้ครั่งกันทั้งหมดทั่วประเทศ เป็นหนี้เป็นสินกันก็เพราะก้อนขี้ครั่งนี้แหละ อย่าว่าแต่เพียงก้อนขี้ครั่งเลย เอาก้อนขี้ไก่มาแปรให้มันเป็นเงินมันก็เป็นได้ ทีนี้ขี้ไก่ก็จะกลายเป็นเงินไปหมด จะฆ่ากันแย่งกันก็ เพราะก้อนขี้ไก่ เรื่องของมันเป็นเรื่องแค่นี้
แม้เขาจะเปลี่ยนเป็นรูปใหม่มา ถ้าพร้อมกันสมมุติขึ้นแล้ว มันก็เป็นขึ้นมาได้ มันเป็นสมมุติอย่างนั้น อันนี้สิ่งที่ว่าเป็นเงินนั้นมัน เป็นอะไรก็ไม่รู้จัก เรื่องแร่ต่างๆ ที่ว่าเป็นเงินจริงๆ แล้วจะเป็นเงินหรือเปล่าก็ไม่รู้ เห็นแร่อันนั้นเป็นมาอย่างนั้น ก็เอามาสมมุติมันขึ้นมา มันก็เป็น ถ้าพูดเรื่องโลกแล้วมันก็มีแค่นี้ สมมุติอะไรขึ้นมาแล้วมันก็เป็น เพราะมันอยู่กับสมมุติเหล่านี้ แต่ว่าจะเปลี่ยนให้เป็นวิมุตติ ให้คนรู้จัก วิมุตติอย่างจริงจังนั้นมันยาก
เรือนเรา บ้านเรา ข้าวของเงินทอง ลูกหลานเรา เหล่านี้ก็สมมุติว่าลูกเรา เมียเรา พี่เรา น้องเรา อย่างนี้ เป็นฐานที่สมมุติกันขึ้นมาทั้งนั้น แต่ความจริงแล้วถ้าพูดตามธรรมะ ท่านว่าไม่ใช่ของเรา ก็ ฟังไม่ค่อยสบายหูสบายใจเท่าใด เรื่องของมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่สมมุติขึ้นมาก็ไม่มีราคา สมมุติว่าไม่มีราคาก็ไม่มีราคา สมมุติให้มีราคาขึ้นมาก็มีราคาขึ้นมา มันก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นสมมุตินี้ก็ดีอยู่ ถ้าเรารู้จักใช้มัน ให้รู้จักใช้มัน
อย่างสกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เราหรอก มัน เป็นของสมมุติ จริงๆ แล้วจะหาตัวตนเราเขาแท้มันก็ไม่มี มีแต่ธรรมธาตุอันหนึ่งเท่านี้แหละ มันเกิด แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นจริงเป็นจังของมัน แต่ว่าสมควรที่ เราจะต้องใช้มัน
อย่างว่า เรามีชีวิตอยู่ได้นี้เพราะอะไร? เพราะอาหารการกินของเราที่เป็นอยู่ ถ้าหากว่าชีวิตเราอยู่กับอาหารการกิน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นปัจจัย จำเป็นเราก็ต้องใช้ ใช้สิ่งเหล่านี้ให้มันสำเร็จประโยชน์ในความเป็นอยู่ของเรา เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนพระ เริ่มต้นจริงๆ ท่านก็สอนเรื่องปัจจัยสี่ เรื่องจีวร เรื่อง บิณฑบาต เรื่องเสนาสะ เรื่องเภสัชยาบำบัดโรค ท่านให้พิจารณา ถ้าเราไม่ได้พิจารณาตอนเช้า ยามเย็นมันล่วงกาลมาแล้ว ก็ให้พิจารณาเรื่องอันนี้
ทำไมท่านจึงให้พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาให้รู้จักว่า มันเป็นปัจจัยสี่ เครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา นักบวชก็ต้องมีผ้านุ่งห่ม อาหารการขบฉัน ยารักษาโรค มีที่อยู่อาศัย เมื่อเรามีชีวิตอยู่เราจะหนี จากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นอยู่ ท่านทั้งหลายจะได้ใช้ ของเหล่านี้จนตลอดชีวิตของท่าน แล้วท่านอย่าหลงนะ อย่าหลงสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเพียงเท่านี้ มีผลเพียงเท่านี้
เราจะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปจึงอยู่ได้ ถ้าไม่อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะบำเพ็ญภาวนา จะสวดมนต์ทำวัตร จะนั่งพิจารณากรรมฐาน ก็จะสำเร็จประโยชน์ให้ท่านไม่ได้ ในเวลานี้จะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ ฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าไปติดสิ่งเหล่านี้ อย่าไปหลงสมมุติอันนี้ อย่าไปติดปัจจัยสี่อันนี้ มันเป็นปัจจัยให้ท่าน อยู่ไป อยู่ไป พอถึงคราวมัน ก็เลิกจากกันไป
ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องสมมุติ ก็ต้องรักษาให้มันอยู่ ถ้าไม่รักษา มันเป็นโทษ เช่นถ้วยใบหนึ่ง ในอนาคตมันจะต้องแตก แตกก็ช่างมัน แต่ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านรักษาถ้วยใบนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นเครื่องใช้ของท่าน ถ้าถ้วยใบนี้แตกท่านก็ลำบาก แต่ถึงแม้ว่าจะแตกก็ ขอให้เป็นเรื่องสุดวิสัยที่มันแตกไป
ปัจจัยสี่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พิจารณานี้ก็เหมือนกัน เป็นปัจจัยส่งเสริม เป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต ให้ท่านทั้งหลายรู้จักมัน อย่าไปยึดมั่นหมายมั่นมัน จนเป็นก้อนกิเลสตัณหาเกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจของท่าน จนเป็นทุกข์ เอาแค่ใช้ชีวิตให้มันเป็นประโยชน์เท่านี้ก็พอแล้ว
เรื่องสมมุติกับวิมุตติ มันก็เกี่ยวข้องกันอย่างนี้เรื่อยไป ฉะนั้น ถ้าหากว่าใช้สมมุติอันนี้อยู่ อย่าไปวางอกวางใจว่ามันเป็นของจริง จริงโดยสมมุติเท่านั้น ถ้าเราไปยึดมั่นหมายมั่นก็เป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไม่รู้เรื่องอันนี้ตามเป็นจริง เรื่องมันจะถูกจะผิดก็เหมือนกัน บางคนเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เรื่องผิดเรื่องถูกไม่รู้ว่าเป็นของใคร ต่างคนต่างก็สมมุติขึ้นมาว่าถูกว่าผิดอย่างนี้แหละ เรื่องทุกเรื่องก็ควรให้รู้
พระพุทธเจ้าท่านกลัวว่า มันจะเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าถกเถียงกัน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันจบไม่เป็น คนหนึ่งว่าถูกคนหนึ่งว่าผิด คนหนึ่งว่าผิดคนหนึ่งว่าถูก อย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว เรื่องถูกเรื่องผิดนั้น น่ะเราไม่รู้จักเลย เอาแต่ว่าให้เรารู้จักใช้ให้มันสบาย ทำการงานให้ถูกต้อง อย่าให้มันเบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนผู้อื่น ให้มันไป กลางๆ ไปอย่างนี้ มันก็สำเร็จประโยชน์ของเรา
รวมแล้วส่วนสมมุติก็ดี ส่วนวิมุติก็ดี ล้วนแต่เป็นธรรมะ แต่ว่า มันเป็นของยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่มันก็เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เราจะรับรองแน่นอนว่า อันนี้ให้เป็นอันนี้จริงๆ อย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้วางไว้ว่า “มันไม่แน่” ถึงจะชอบมากแค่ไหน ก็ให้รู้ว่ามันไม่แน่นอน ถึงจะไม่ชอบมากแค่ไหน ก็ให้เข้าใจว่าอันนี้ไม่แน่ นอน มันก็ไม่แน่นอนอย่างนั้นจริงๆ แล้วปฏิบัติจนเป็นธรรมะ อดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ
แล้วที่มันจบก็คือที่มันไม่มีอะไร ที่มันละมันวางมันวาง มันวางภาระที่มันจบ จะเปรียบเทียบให้ฟัง อย่างคนหนึ่งว่าธงมันเป็นอะไรจึงปลิวพริ้วไป คงเป็นเพราะมีลม อีกคนหนึ่งว่ามันเป็นเพราะมีธงต่างหาก อย่างนี้ก็จบลงไม่ได้สักที เหมือนกันกับว่าไก่เกิดจากไข่ ไข่เกิดจากไก่อย่างนี้แหละ มันไม่มีหนทางจบ คือมันหมุนไป หมุนไป ตามวัฏฏะของมัน
ทุกสิ่งสารพัดนี้เรียกว่าสมมุติขึ้นมา มันเกิดจากสมมุติขึ้นมา ก็ให้รู้จักสมมุติ ให้รู้จักบัญญัติ ถ้ารู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็รู้จักเรื่อง อนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา มันเป็นอารมณ์ตรงต่อพระนิพพาน เลยอันนี้
เช่นการแนะนำพร่ำสอนให้ความเข้าใจกับคนแต่ละคน นี้มันก็ยากอยู่ บางคนมีความคิดอย่างหนึ่ง พูดให้ฟังก็ว่าไม่ใช่ พูดความจริงให้ฟังเท่าไร ก็ว่าไม่ใช่ ฉันเอาถูกของฉัน คุณเอาถูกของคุณ มันก็ ไม่มีทางจบ แล้วมันเป็นทุกข์ ก็ยังไม่วาง ก็ยังไม่ปล่อยมัน อาตมาเคยเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งว่า คนสี่คนเดินเข้าไปในป่า ได้ยินเสียงไก่ขัน “เอ๊ก อี้เอ้ก เอ้ก” ต่อกันไป คนหนึ่งก็เกิดปัญญาขึ้นมา ว่า เสียงขันนี้ใครว่าไก่ตัวผู้หรือว่าไก่ตัวเมีย สามคนรวมหัวกันว่าไก่ตัวเมีย ส่วนคนเดียวนั้นก็ว่าไก่ตัวผู้ขัน เถียงกันไปอยู่อย่างนี้แหละ ไม่หยุด สามคนว่าไก่ตัวเมียขัน คนเดียวว่าไก่ตัวผู้ขัน “ไก่ตัวเมียจะขันได้อย่างไร?” “ก็มันมีปากนี่” สามคนตอบ คนคนเดียวนั้นเถียงจนร้องไห้ ความจริงแล้วไก่ตัวผู้นั่นแหละขันจริงๆ ตามสมมุติของเขา แต่สาม คนนั้นว่าไม่ใช่ ว่าเป็นไก่ตัวเมีย เถียงกันไปจนร้องไห้ เสียอกเสียใจมาก ผลที่สุดแล้ว มันก็ผิดหมดทุกคนนั่นแหละ ที่ว่า ไก่ตัวผู้ ไก่ตัวเมีย ก็เป็นสมมุติเหมือนกัน
ถ้าไปถามไก่ว่า “เป็นตัวผู้หรือ” มันก็ไม่ตอบ “เป็นไก่ตัวเมีย หรือ” มันก็ไม่ให้เหตุผลว่าอย่างไร แต่แรกเคยสมมุติบัญญัติว่ารูป ลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้ รูปลักษณะอย่างนั้นเป็นไก่ตัวเมีย รูป ลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้มันต้องขันอย่างนี้ ตัวเมียต้องขันอย่างนั้น อันนี้มันเป็นสมมุติติดอยู่ในโลกเรานี้ ความเป็นจริงของมัน มันไม่มีไก่ตัวผู้ตัวเมียหรอก ถ้าพูดตามความสมมุติในโลกก็ถูกตามคนเดียวนั้น แต่เพื่อนสามคนไม่เห็นด้วย เขาว่าไม่ใช่ เถียงกันไปจนร้องไห้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มันก็เรื่องเพียงเท่านี้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นทำไมจะปฏิบัติได้? ปฏิบัติไปเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ จะเอาปัญญาแทนเข้าไปในที่นี้ยากลำบาก นี่เพราะที่ไม่ให้ยึดมันจึงเป็นของยาก มันต้องอาศัยปัญญาแหลมคมเข้าไปพิจารณา มันจึงไปกันได้ อนึ่ง ถ้าคิดไปแล้วเพื่อบรรเทาทุกข์ลงไป ไม่ว่าผู้มีน้อยหรือมีมากหรอก เป็นกับปัญญาของคน ก่อนที่มันจะทุกข์มันจะสุข มันจะสบายหรือไม่สบาย มันจะล่วงทุกข์ทั้งหลายได้ เพราะปัญญาให้มัน เห็นตามเป็นจริงของมัน
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้อบรม ให้พิจารณา ให้ภาวนา ภาวนาก็คือ ให้พยายามแก้ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ให้ถูกต้องตามเรื่องของมัน เรื่องของมันเป็นอยู่อย่างนี้ คือเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย มันเป็นเรื่องของธรรมดา ธรรมดาแท้ๆ มันเป็นอยู่อย่างนี้ ของมัน ท่านจึงให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ให้ภาวนาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย บางคนไม่เข้าใจ ไม่รู้จะพิจารณามันไปทำไม เกิดก็รู้จักว่าเกิดอยู่ ตายก็รู้จักว่าตายอยู่นั่นแหละ มัน เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน มันเป็นเรื่องความจริงเหลือเกิน ถ้าหากว่าผู้ใดพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอยู่อย่างนี้ มันก็เห็น เมื่อมันเห็น มันก็ค่อยแก้ไขไป ถึงหากว่ามันจะมีความยึดมั่นหมายมั่นอยู่ก็ดี ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็บรรเทาทุกข์ไปได้ ฉะนั้นจงศึกษาธรรมเพื่อแก้ทุกข์
ในหลักพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีอะไร มีแต่เรื่องทุกข์เกิด กับทุกข์ดับ เรื่องทุกข์จะเกิด เรื่องทุกข์จะดับ เท่านั้น ท่านจึงจัดเป็นสัจจธรรม ถ้าไม่รู้ มันก็เป็นทุกข์ เรื่องจะเอาทิฐิมานะมาเถียงกันนี้ไม่มีวันจบ หรอก มันไม่จบ มันไม่สิ้น เรื่องที่จะให้จิตใจเราบรรเทาทุกข์สบายๆ นั้น เราก็ต้องพิจารณาดูเรื่องที่เราผ่านมา เรื่องปัจจุบันและอนาคตที่มันเป็นไป เช่นว่าพูดถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทำยังไงมันจึงจะไม่ให้เป็นห่วงเป็นใยกัน ก็เป็นห่วงเป็นใยอยู่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าหากบุคคลมาพิจารณา รู้เท่าตามความเป็นจริง ทุกข์ทั้งหลายก็จะบรรเทาลงไป เพราะไม่ได้กอดทุกข์ไว้