ธรรมที่หยั่งรู้ยาก


วันมหาปวารณา วันนี้เป็นวันมหาปวารณา ความเป็นจริงนั้นเรานับถือพระพุทธเจ้าของเรา เทิดทูนพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งกว่าอะไรทั้งหลายทั้งนั้น แต่ว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่ของเล่นๆ จะต้องเป็นผู้ฉลาดพอสมควร ต้องฉลาดในการสอนจิตของตัวเอง เอาออกมาฝึกให้มากๆ จิตของเรานี้จะบีบมันมากก็ไม่ได้ จะปล่อยมันก็เลอะเทอะพระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สอนตัวอย่างไรสอนคนอื่นอย่างนั้น ตัวทำอย่างไร จึงให้คนอื่นทำอย่างนั้น ไม่ใช่ของเล่นๆหรอกโยม โยมไปมองดูพระท่านบวช ก็นึกว่าท่านสบาย อย่างเช่นเรื่องอาจารย์ดี จะเล่าให้ฟัง อาจารย์ดี ศิษย์หลวงปู่มั่น อาจารย์ดีที่เป็นคู่กับอาจารย์ทองรัต เป็นพระกรรมฐานรุ่นกลางไม่ใช่รุ่นแรก ที่เป็นศิษย์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต เที่ยวบิณฑบาตไปฉันตามบ้านป่า บางทีบางบ้านก็ไม่รู้เรื่องเลย พระไปบิณฑบาตก็ใส่แต่ข้าวจะเอาอาหารใส่บาตรหรือก็ไม่เคยทำกัน บางแห่งก็ว่าพระกรรมฐานท่านฉันแต่หวาน อย่างอื่นท่านไม่ฉันหรอก พอไปบิณฑบาตตามบ้านเขาก็เอาข้าวเปล่าใส่เท่านั้นแหละ พระจะไปบอกให้เขาเอาอาหารใส่บาตรก็ไม่ได้ เป็นอาบัติ บางทีพระไปพักอยู่เป็นเดือนๆ เขาก็ยังไม่เข้าใจ ทีนี้ท่านอาจารย์ดีท่านไปบิณฑบาตในบ้านที่ยังไม่เคยไป โยมก็ใส่แต่ข้าว ตอนฉันจังหันเขาก็ตามไป ท่านก็ฉันจังหันอยู่อย่างนั้นแหละฉันแต่ข้าวเปล่าๆ เพราะของมันอยู่ในบาตร โยมเขาก็มองไม่เห็น เห็นพระเอามือล้วงลงไป ท่านก็เอาขึ้นมาฉันสบายๆ ก็นึกว่าอาหารท่านเยอะแยะแล้ว ท่านอาจารย์ดีท่านฉันข้าวเปล่าๆอยู่ ๗ วัน ท่านก็คิดว่า "จะทำอย่างไรดีหนอ" พระกรรมฐานนี่ท่านก็มีปัญญาพอสมควรเหมือนกันนะ วันหนึ่งท่านก็เอาฝาบาตรหงายขึ้น จับเอากาน้ำมารินใส่มีแต่น้ำเท่านั้นแหละ โยมก็ตามมานั่งอยู่จะมาฟังธรรม ท่านก็เอาข้าวเหนียวมาปั้นแล้วก็จิ้มกับน้ำในฝาบาตรที่รินมาจากกาน้ำนั่นแหละท่านก็ฉันข้าวไป โยมเขาก็มองท่าน ท่านก็ฉันของท่านไปเรื่อยๆ โยมสงสัยก็ถาม "เอ้า หลวงพ่อทำไมฉันอย่างนั้นเล่า ทำไมฉันข้าวกับน้ำ" ท่านก็ว่า "มันมีอย่างนี้ก็ฉันอย่างนี้" โยมก็ว่า "ฉันพริกฉันปลาร้าไม่ได้หรือ" "ถ้ามันมีก็ได้" ท่านอาจารย์ตอบ โอ้โฮ มันช่างเพราะเหลือเกินนะ ท่านเอาข้าวในบาตรนั้นมาจิ้มน้ำเปล่าอยู่นั่นแหละ นี่คือจะสอน เอากันถึงขนาดนั้น ทีนี้เขารู้แล้วก็ว่าโอ...เราบาปแล้วให้พระฉันข้าวกับน้ำเปล่าๆอยู่ถึง ๑๕ วัน แล้วนี่ความไม่รู้เรื่องเป็นอย่างนี้ คนที่ไม่รู้เรื่องมันสอนยากสอนลำบาก เมื่อหลวงพ่อป่าไปสอนที่เมืองนอก ครูบาอาจารย์ผู้สอนมานั้นลำบาก อย่างเช่นอาตมาออกไปเมืองนอก ซึ่งเขาไม่มีพระเหมือนบ้านเรา ก็เป็นเหตุให้มองเห็นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว พอเราออกไปบิณฑบาต เขามองไม่เป็นพระเลยเขามองเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ คนที่จะคิดใส่บาตรสักคนหนึ่งก็ไม่มี มีแต่เขาพากันมองว่า ตัวอะไรน่ะมานั่น โอ้โฮ นึกถึงพระพุทธองค์ อาตมากราบท่านเลย มันแสนยากแสนลำบากที่จะฝึกคน เพราะเขาไม่เคยทำผู้คนที่ไม่เคยทำไม่รู้จักนี่มันลำบากมาก พอมานี่นึกถึงเมืองไทยเราออกจากป่าไปบิณฑบาตเท่านั้นแหละ ไม่อดแล้ว ไปที่ไหนมันก็สบายมาก บิณฑบาตเอาคน อย่าเอาอาหาร แต่เมื่อเราไปเมืองนอกอย่างนั้น มองๆดูไม่มีใครตั้งใจมาตักบาตรพระ บาตรเขายังไม่รู้จักเลย เราสะพายบาตรไป เขานึกว่าเป็นเครื่องดนตรีเสียอีก ถึงอย่างนั้นอาตมาก็ยังดีใจในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว โดยมากพระท่านไปเมืองนอก ท่านไม่บิณฑบาตหรอก อาตมามองเห็นข้อนี้นึกถึงพระพุทธเจ้า อาตมาต้องบิณฑบาต ใครจะห้ามก็จะบิณฑบาต ไปบิณฑบาต ไปทำกิจอันนี้ที่กรุงลอนดอนได้ ดีใจเหลือเกิน พวกพระไปด้วยกันก็ว่าบิณฑบาตทำไม มันไม่ได้อาหาร"อย่าเอาอาหารซิ ไปบิณฑบาตเอาคน เอาคนเสียก่อน ขนมมันมากับคน" ให้อายเฉพาะในสิ่งที่เป็นบาป พระก็ไปบิณฑบาตให้เขามองดู เขามองดูพระนั่นก็ถือว่าได้แล้วก็เหมือนท่านพระสารีบุตรนั่น ท่านไปบิณฑบาตอุ้มบาตรอยู่ในบ้านตั้งหลายครั้ง เขาก็ไม่ใส่บาตรสักขันเลย เขามองดูแล้วเขาก็เดินหนี มาถึงวันหนึ่งเขาก็ว่า "พระสมณะนี่มาอย่างไร ไป หนีไป "พระสารีบุตรท่านก็ดีใจแล้ว ได้บิณฑบาตแล้ววันนี้ เพราะเขาสนใจเขาจึงไล่เรา ถ้าเขาไม่สนใจเขาไม่ไล่หรอก เขาไม่พูดกับเราหรอก พระสารีบุตรท่านเป็นผู้มีปัญญา เท่านั้นท่านก็พอใจแล้ว คนสนใจ นี่เป็นจิตของพระที่ท่านไปประกาศพระศาสนา อาตมามานึกถึงข้อนี้แล้วก็ไม่อาย เพราะพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสว่า "ให้อายแต่สิ่งที่มันเป็นบาป ไม่เป็นบาปไม่ต้องอาย" ก็เลยออกไปบิณฑบาตได้สัก ๗ วัน ตำรวจก็จ้องสะกดรอยตามมาห้าม ให้หยุดบิณฑบาต บอกว่าผิดกฎหมายในเมืองเขา เราไม่รู้นี่มันผิด เราก็หยุด ที่ผิดเพราะเขาหาว่าเป็นขอทาน บ้านเขาห้ามขอทาน เราก็บอกว่า อันนั้นมันเป็นเรื่องของคน แต่นี่มันเรื่องของศาสนา พระพุทธศาสนาไม่ใช่ขอทาน ก็เลยได้อธิบายไปว่า ขอทานประการหนึ่ง การบิณฑบาตอีกอย่างหนึ่งก็เลยเข้าใจกัน ทุกวันนี้ที่นั่นพระก็ได้บิณฑบาตอยู่ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าไรหรอก ค่อยๆเริ่มไปล่ะนี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทำได้ลำบาก ขอให้ปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน อย่างเราชาวพุทธที่มาฟังธรรมะกันทุกวันพระนี่ บางคนก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องธรรมะแท้ๆ อย่างเมื่อสองสามวันมานั้น พวกโยมจากสาขามารวมกันเป็นร้อยๆ ทีนี้อาตมาก็เลยถามว่า "โยม ปีนี้เท่าที่ตรวจดูนะ อาตมาสอนมานี่ก็เกือบสามสิบปีแล้ว ปล่อยไปตามใจสบายๆ วันนี้ก็เลยอยากถามว่า พวกเราอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายนั้น มีบ้างไหมในที่นี้ ได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติ ปฏิบัติไม่มากหรอก มีศีล ๕ ตลอดชีวิตมีบ้างไหม" มองดูตากันล่อกแล่ก ไม่มีเลย นั่งนิ่งอยู่อย่างนั้น นี่เห็นไหมมันขาดการปฏิบัติ คือมันยังไม่ถึงใจ อาตมาก็เลยเทศน์ว่าไปสักหน่อยวันนั้นจะมีใครโกรธหรืออย่างไรก็ไม่รู้ อาตมาก็นึกว่าจะมีคนสักคนหนึ่ง แต่ดูแล้วมีแต่ขี้คน มีแต่ขี้มัน คนไม่มี ถ้าคนแท้มันต้องสำรวมด้วยศีล ๕ คือถ้าเป็นมนุษย์แล้วเราต้องพยายามทำศีลนี้ให้มันมีขึ้นมาโดยตลอดชีวิต ได้สัก ๔-๕ คนก็ยังดีนะ นี่ไม่มีหรอก เพราะไม่เคยทำมา ปฏิบัติศีล ๕ สม่ำเสมอ สมัยก่อนอาตมายังไม่ได้มาสอนที่นี่ เรื่องสมาธินี่คนก็ไม่รู้เรื่องเลย ศีลก็พูดแต่รับกับพระไปเท่านั้น พูดไปทำไมก็ไม่รู้ สมาธิก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยทำ เข้าไปวัดก็ไม่มีใครฝึก เมื่อศีล สมาธิ ก็ไม่เริ่ม ปัญญาจะเกิดที่ไหน ถ้ามาพูดถึงตรงนี้รู้สึกว่าพวกเรายังไกลกันมากที่สุด ขอให้แต่ละคนเอาการบ้านข้อนี้ไปคิดกัน อย่างอาตมาขึ้นไปเมืองเหนือไปเทศน์ให้เขารักษาศีล เขาก็ว่า "ท่านอาจารย์เทศน์อย่างนี้ ท่านจะฉันข้าวกับอะไร" "ไม่รู้ อาตมาไม่รู้" เขาก็ว่า "ถ้าอย่างนั้นเอาไหม ผมจะโขลกพริกกับเกลือมาให้ท่านฉันทุกวัน ท่านจะฉันได้ไหม" อาตมาก็ว่า "ใครจะทำ โยมคนไหนจะทำ อย่าหนีจากกันเลยนะ ให้โยมโขลกพริกกับเกลือมาทุกวันๆ อาตมาก็จะฉันให้ทุกวันๆอาตมาไม่เคยเห็นใครมีศรัทธาอย่างนี้ เอาไหม เอากันเป็นปีๆไหมหรือตลอดปีก็เอากันไหม ให้โยมมาจัดทุกวันนะ" โน่น คนที่พูดไปนั่งอยู่โน่น มันไม่กล้าทำหรอก มันพูดแต่ปากนั่นแหละ พูดให้เราจนเท่านั้น ความเป็นจริงคนที่มาวัดทุกวันนี้มันต้องมีศรัทธา คนพูดเช่นนั้นมันไม่มีศรัทธาหรอก เข้าถึงพระรัตนตรัยไม่ต้องดูฤกษ์ ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นที่จริงมันง่ายที่สุดโยม มันง่ายมาก การกระทำอะไรต่อมิอะไรมันง่ายมันไม่ยาก ไม่ต้องเลือกวันนั้น เดือนนี้ ยามนี้ ไม่ต้องแล้ว พระพุทธองค์ของเราก็ทรงสอนว่า เมื่อไรมันสะดวกวันนั้นมันดี มันไม่ขัดข้องวันนั้นมันดี แต่นี่เราไม่อย่างนั้น เช่นจะปลูกบ้านปลูกช่องสารพัดอย่างก็จะต้องหาฤกษ์วันพันยามกันเสียแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ว่าอย่างนั้น ท่านว่าเมื่อโอกาสมันเหมาะสมก็ให้ทำไปเถอะ แต่เราก็กลัวซึ่งถ้าพูดถึงพระรัตนตรัยเต็มที่ถึงที่สุดแล้ว มีความสะดวกเมื่อใด เป็นฤกษ์ดีเมื่อนั้น ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว คือว่ามันไม่ผิดหรอก เมื่อมันมีโอกาสที่จะทำ เมื่อไรมันสะดวก มันถูกกับเวลาของเรา มันสะดวกก็เอาละ นี่ท่านว่าอย่างนี้ แต่เราไม่เอาอย่างนั้นซิ จะต้องเอาวันนั้นวันนี้ จนอาตมารำคาญ ยิ่งวันแต่งงานนั้นเขาถือว่าเป็นวันที่สำคัญของเขามาก ต้องเอาวันนั้น ต้องเอาฤกษ์อย่างนั้นอย่างนี้ นิมนต์เอาพระหลวงตาไปฉัน นั่งคอยเมื่อยจะตายแล้วอยู่นั่นแหละ คือถ้าไม่ได้ฤกษ์ไม่เอา ต้องให้ได้ฤกษ์ อาตมาก็คอยสังเกตใครที่มีฤกษ์ดีๆบ้าง ว่ามันจะเป็นอย่างไรไหม มันจะดีไหม บางคนอยู่กันได้ไม่ถึงเดือนทะเลาะกันไปเลย อ้าว..ดูซิมันเป็นเสียอย่างนี้ แล้วทำไมไม่สังเกตเหตุผลดูล่ะ จะต้องเอาวันนั้นวันนี้ วันนี้มันจม วันนั้นมันฟู ต้องทำข้างขึ้น ข้างแรมอย่าเอา ไปถือเอาอันนั้นมาเป็นฤกษ์ของเรา ฤกษ์มันก็เป็นเรื่องของฤกษ์ เวลาก็เป็นเรื่องของเวลา มันไม่ใช่มาเกี่ยวข้องกับเรา ถ้าเราไปคิดอะไรต่อมิอะไรมันมากทุกอย่าง ในเรื่องพุทธศาสนามันก็จะยุ่งเหยิงหลายอย่าง จนกระทั่งที่ว่าพูดกันไม่ค่อยจะได้ ความคิดของหลวงพ่อเกี่ยวกับฤกษ์ยาม ทีนี้เรามามองดูซิว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นพระรัตนตรัยของเราจะเสื่อมไหม เศร้าหมองไหม มันก็เสื่อม มันก็เศร้าหมองเท่านั้นแหละที่ว่าฤกษ์ดียามดีก็คืออะไรที่มันดี อะไรที่มันเหมาะสม ไม่ขัดข้องนั่นแหละ อาตมาว่ามันดีแล้ว อาตมาพูดอย่างนี้ ทั้งยังถืออย่างนี้มาตลอดจนทุกวันนี้ ไม่เคยเห็นมันเป็นอะไร เมื่อเรามามองคนบางคนตระกูลบางตระกูล โยมบางโยมก็ลำบาก เช่นแต่งงานกันไม่ถึงฤกษ์หมายจริงๆไม่ต้องละ พระฉันเสร็จแล้วก็ต้องนั่งคอยอยู่นั่นแหละ คือพอถึงฤกษ์ก็ต้องสวด ชะยันโต โพธิยา มูเล...แต่แล้วมันก็ดีบ้างได้บ้าง เสียบ้าง เหมือนกัน บางคนก็อยู่ด้วยกันเดือนสองเดือน พูดกันไม่รู้เรื่อง หนีจากกันเสียแล้ว ทำไมฤกษ์มันไม่คุ้มล่ะ ฤกษ์มันไปอยู่ตรงไหน อย่าเชื่อมงคลตื่นข่าว อันนี้ขอให้โยมคิดกัน อาตมาเคยพูดอยู่เรื่อยๆให้โยมคิด ถ้าเราพูดถึงการตกลงกันวันนั้นวันนี้ ตกลงกันพร้อมเพรียงสามัคคีกันไม่ใช่ว่าได้วันจันทร์ไม่เอานะ ไม่ได้วันอังคารไม่เอานะ ไม่ใช่อย่างนั้นอันนี้เป็นเรื่องยุ่ง ไม่ต้องมากหรอก เท่านี้มันก็ยุ่งแล้ว เมื่อเราตัดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เป็นมงคลตื่นข่าวออกไปแล้ว มันก็ก้าวเข้าไปห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สูงสุดสูงส่งดีแล้ว จะสบายจะสะดวกกันทุกอย่าง อย่างตามบ้านนอกของเรานั้น ทำไร่ ทำนา ทำค้า ทำขายทำโน่น ทำนี่ ถ้าถือกันอย่างนี้ก็ยิ่งลำบากขัดข้องหลายอย่าง อยู่มาวันหนึ่ง เขาเอาหนังเสือมาให้ลงคาถาให้ หนังหน้าผากเสือ นี่มันก็ต้องฆ่าเสือ มันถึงเอาหนังหน้าผากเสือมาได้ ก็นึกว่าเราได้ของดีแล้ว เอามาให้หลวงพ่อลงคาถาให้ อาตมาก็ว่า "จะลงคาถาไปทำไม เสือก็ไปฆ่ามาแล้วนี่ หนังมันจะดีอะไร" ไปฆ่าตัวมันเอาหนังมันมาลงคาถาถือกันไปอย่างนี้ ที่จริงแล้วที่มันดีอยู่ ก็คืออย่าไปฆ่าเสือมัน อันนี้ไปฆ่าเขาถือกันว่าดีและยังจะเอาหนังมาลงคาถาอีก จะทำอะไรกันต่อไปอีกเป็นอย่างนี้มันถือผิดกันหมด อย่างกลองที่วัดอาตมาเคยอยู่นะ คือวัดทุ่ง กลองเขาเอาไว้ตีเพล...ทุ่ม...ทุ่ม...ทุ่ม มีอาจารย์องค์ไหนก็ไม่รู้บอกว่า ถ้าได้หนังหน้ากลองมาจะลงคาถาให้ ก็เลยพากันไปผ่าเอากลองเพลที่วัดทุ่ง ปาดหน้ากลองแล้วก็เอาไปลงคาถา เราก็เคยเห็นว่ากลองเพลมันดัง ถ้าตีไปคนก็มารวมกัน อันนี้คงดีแน่ แต่นี่กลับไปตัดเอามาลงคาถาเสียนี่เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันหลายเหลือเกิน เมื่อค้นถึงพุทธศาสนาของเราแล้ว ที่จริงนั้นมันลำบากอยู่ เราจะเอาตรงไหน มันดี มันลำบากการปฏิบัติของเรานั้นมันถึงไม่ปรากฏผลขึ้นมา บูชายัญเป็นความเชื่อถือของพราหมณ์ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธองค์ตรัสว่ามันยุ่ง ทรงตัดทิ้งเพราะมันเป็นเรื่องของพราหมณ์ พราหมณ์เขาบูชายัญ ทำไมพราหมณ์ถึงบูชายัญ เพราะเขาต้องการสิ่งที่เขาปรารถนา เขาถึงบูชายัญ มันตรงกันข้ามกับพุทธศาสนาของเรา ทำไมเราถึงทำบุญกัน ทำบุญกันทำไมการทำบุญนั้น พระพุทธเจ้าของเราหมายถึง ไม่ให้เห็นแก่ตัวหรือว่าทำไปเพื่อกำจัดความโลภออกจากใจของเรา มันไปคนละข้างกับพราหมณ์เสียแล้ว มันกลับกัน ฉะนั้นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยนั้นหยาบๆมีเยอะแต่มันก็ยังไปไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงธรรมลึกซึ้งอะไร อย่างเช่นท่านว่า"อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺนิโน" มันจะถึงสังขารเมื่อไรเพราะมันไม่ได้พิจารณากัน แม้แต่นั่งสมาธิทำจิตให้เป็นหนึ่งมันก็ไม่เคยรู้เรื่อง ไม่รู้จักทำกัน แล้วมันจะไปมองเห็นตรงไหน อันนี้ให้พวกเราเอาไปพิจารณาดู พุทธศาสนา ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดผล การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นพระก็ปฏิบัติได้ เป็นโยมก็ปฏิบัติได้แต่ว่าเป็นพระนี้มันไกลจากความกังวล แต่ก็ไม่แน่ บางแห่งก็ยิ่งกังวลมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ลำบากอยู่ ฉะนั้นเรื่องธรรมะนี้จะต้องใช้การภาวนา คือการพิจารณา อย่างเช่นพระนวกะที่ท่านได้เทศน์ให้ฟังไปนั้นท่านได้พูดรวมลงมาว่า "พุทธศาสนานั้นต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติไม่เกิดผล ไม่เกิดประโยชน์ เรียนมากขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่เกิดประโยชน์ถ้าไม่ปฏิบัติ" อันนี้ท่านพูดสั้นๆ ท่านเกิดมีความรู้สึกอย่างไรก็ไม่รู้ของท่านท่านพูดสั้น แต่ก็ถูกของท่านทั้งหมดเลย เพราะถ้าไม่ปฏิบัติแล้วทุกอย่างมันไม่เกิดประโยชน์ มันเสียหาย เช่นว่าเราทำนาสักแปลงหนึ่งแต่พอถึงคราวที่จะเกี่ยว ไม่รู้จะเอาอะไรเกี่ยว มันก็เสียหายมาก การกระทำนั้นก็เลยไม่ได้ผลประโยชน์ แต่ว่าทำไมการปฏิบัติมันถึงยากลำบาก คือถ้าจะว่ากันจริงๆแล้วมันจะต้องยากเสียก่อนแล้วมันจึงจะง่าย ตัวทุกข์คือตัวสัจจธรรมที่แท้ อย่างเช่นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ทุกข์" พอเราเห็นว่าทุกข์อย่างเดียวก็ไม่ชอบเสียแล้ว ไม่อยากจะรู้ทุกข์ แต่ความเป็นจริงแล้วตัวทุกข์นั่นแหละคือตัวสัจจธรรมแท้ๆ แต่เราก็อ้อมอันนี้เสีย ไม่อยากจะดูทุกข์ หรืออย่างคนที่แก่ๆเราก็ไม่อยากจะดู อยากจะดูแต่คนหนุ่มเป็นเสียอย่างนั้น ทุกข์นี้ไม่อยากจะดู เมื่อไม่อยากจะดูทุกข์มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ตลอดกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้จักทุกข์ ทุกข์นี้เป็นตัวอริยสัจจ์ เป็นสัจจธรรม ถ้าเราเห็นทุกข์ก็เป็นเหตุให้เราแก้ไข อย่างเช่นว่า ทางที่นี่มันรก ไปไม่ค่อยจะได้ ไปแล้วมันก็รกอยู่นั่นแหละ ความคิดมันก็เกิดขึ้นมา ทำอย่างไรหนอทางนี้มันจึงจะง่าย ไปทุกวัน คิดทุกวัน จิตนี้มันเกิดความคิดอย่างนี้ เพราะสิ่งที่ไม่สะดวกคือตัวปัญหา ตัวปัญหามันเกิดขึ้นมา มันถึงหาทางเฉลยแก้ปัญหาอันนั้น ถ้าเราไม่ทุกข์มันก็ไม่มีปัญหา เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่มีเหตุให้พิจารณาอะไรเลย อันนี้เราก็เลยข้ามไป ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนเรื่อง 'ทุกข์' ใช้ปัญญาพิจารณาในการละทุกข์ วันหนึ่งมีพระอยู่ด้วยกันมาเล่าให้อาตมาฟัง ท่านเล่าว่า ปีนี้มันทุกข์เหลือเกิน อาตมาก็ว่า ก็ให้มันทุกข์เสียก่อนซิมันถึงจะอดทน ถ้าไม่มีความอดทนมันจะเห็นธรรมะไหม อย่างเช่นว่า ก่อนนั้นตีสามไม่เคยจะตื่นเลย อยู่ที่นี่พอตีสามระฆังดังหง่างๆๆ...แล้วเรามันเคยสองโมงเช้าจึงจะตื่นเมื่ออยู่ที่บ้าน มาอยู่ที่นี่ตื่นตีสาม มันก็เลยแย่ทำไมมันจะไม่อยากโดดหนีล่ะ มันก็คิดถึงบ้านเท่านั้นแหละ อยู่บ้านพ่อบ้านแม่เราไม่เคยลำบากอย่างนี้ ไปมันเสียดีกว่า มันเป็นทุกข์ ทำไมจะไม่เป็นทุกข์ อย่างการขบฉัน พระตั้งสามสี่สิบ อาตมาก็ให้ฉันบิณฑบาตเรียงกันไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามันหิวขึ้นมาก็ว่าฉันพร้อมกันไม่ได้หรือ มันยุ่งยาก อาตมาก็ว่าดีแล้ว มันยุ่งยากนั่นน่ะมันดี มันอดทนดี พระบวชใหม่ๆอยากฉันก็ฉัน พอมันมาพบตรงนี้เข้ามันก็ทุกข์เพราะพระจะฉันก็ต้องฉันเรียงลำดับกันไป กว่าจะถึงเราก็ โอ๊ยมันอดแล้วอดอีก มันก็เป็นทุกข์ กว่าจะปรับตัวได้ก็ร่วมสามเดือน เมื่อละทุกข์ได้ชีวิตก็เป็นสุข อาตมาก็เคยบอกพระนวกะเราแต่แรกแล้วว่า ให้ถึงเดือนที่สามแล้วถึงจะพอรู้เรื่องสักนิดหนึ่ง เพราะมันผ่านทุกข์มานั่นเองถ้าได้ผ่านตรงนี้แล้วก็เอาซิ จะไปทำมาค้าขายอะไรก็มีกำลัง การงานดีขึ้นมีกำลังขึ้น เช่น มีลูกศิษย์คนหนึ่งที่มาอยู่นี่ ต้องตื่นนอนตีสาม นอนบางทีหกทุ่ม พอสึกไปเป็นทหาร ตอนอยู่เวรคนอื่นเขาจะตายแล้วแต่คนนี้สบาย เดินจงกรมสบาย เจ้านายก็รัก เลยมาบอกว่า เป็นทหารมันไม่ยากหรอก มันง่ายๆ ส่วนคนที่ไม่เคยทำกรรมฐานมันจะตายแล้ว คนที่สบายเพราะมันเคยทุกข์มาจนพอแล้ว ให้มันทุกข์ขนาดนั้น (เป็นทหาร) มันไม่เต็มมือมัน มันเลยสบายเลย นี่แหละเราต้องการตรงนี้ ฉะนั้นที่มาบวชวัดหนองป่าพงนี่มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เพราะไม่เห็นว่าทุกข์ นี่แหละเป็นทางตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าของเราท่านให้เห็นทุกข์ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค ออกช่องนี้เลย พระอริยบุคคลออกช่องนี้ ถ้าไม่ออกช่องนี้จะออกช่องไหน ใครจะไปตรงไหน ถ้าไม่ออกช่องนี้ก็ไม่มีทางออก จะต้องรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่ออกช่องนี้ พระโสดาบัน พระอริยบุคคลเบื้องต้นก็ออกตรงนี้ ไม่มีทางอื่นที่จะออก ถ้าไม่รู้จักทุกข์ ออกไม่ได้ทุกๆอย่างนั่นแหละมันทุกข์ อย่างทุกข์ใจของเรานี่มันก็สารพัดอย่างโยมเองก็เคยเป็นทุกข์กันมาแล้ว วิธีปฏิบัติในทางพุทธศาสนาก็เพื่อแก้ทุกข์ คือทำอย่างไรจะไม่ให้มันเป็นทุกข์ เมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้นมาก็ตาม หาว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร เออ...มันเกิดจากตรงนั้น ท่านก็ให้ทำลายเหตุตรงนั้นเสีย ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เพราะเห็นทุกข์เสียก่อนจึงรู้จักว่าทุกข์มันเกิดจากอะไร ก็ตามมันไปอีก จึงไปแก้ไขตรงนั้นว่ามันเกิดจากอันนั้น แล้วทำลายสิ่งที่มันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดไปเสีย ด้วยการขจัดมันไป ทุกข์ สมุทัย แล้วก็นิโรธ คือความดับเช่นนั้นมันมีอยู่ จะต้องหาข้อปฏิบัติ คือมรรค เพื่อจะเดินทางไปดับทุกข์ แก้ตรงนั้นมันจึงไม่เกิดทุกข์ อย่างนี้พระพุทธศาสนาออกไปตรงนี้ ไม่ออกไปที่ไหน เมื่อตัณหาเกิด คำว่าพอจะไม่มี มนุษย์เราทั้งหลายที่ยังตกค้างอยู่ในโลกนี้ มากมายก่ายกองนั้นมีเรื่องสงสัยวุ่นวายตลอดเวลา อันนี้มันไม่ใช่ของเล่นๆ มันเป็นของยากของลำบาก ฉะนั้นจะต้องยอมสละทิ้งมันส่วนหนึ่ง ทิ้งร่างกายทิ้งตัว ต้องตกลงถวายชีวิต อย่างเช่นพระที่ท่านมาบวชหรืออย่างพระพุทธองค์ ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม คนเราพอเห็นท่านเป็นกษัตริย์ออกบวชไม่สึก ก็ว่าดีอยู่ แต่ว่าท่านเป็นกษัตริย์ท่านก็ไปได้ เพราะอะไรๆท่านก็ร่ำรวยมาหมดทุกอย่างแล้ว ท่านก็ไปได้ล่ะ นี่คนเราไปว่าอย่างนั้น รู้ไหมว่าตัณหามันมีประมาณไหม ได้ขนาดไหนมันถึงจะพอมีไหม มันมีไหม ลองถามดูอย่างนี้ก็ได้ มันไม่มีเพียงพอ มันก็ยังอยากอยู่เรื่อยไปนั่นแหละ เมื่อมันทุกข์จวนจะตายอยู่แล้วมันก็ยังอยาก คำว่าเพียงพอมันไม่มี ความเกิดเป็นตัวนำทุกข์ ทีนี้เมื่อมาพูดถึงธรรมะล้วนๆ พูดถึงการปฏิบัตินั้นมันยิ่งลึกลงไป ญาติโยมบางคนอาจจะฟังไม่ได้ เช่นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าท่านไม่มีการเกิดอีกแล้วในภพชาติ ท่านหมดเท่านี้ พอว่าไม่ต้องเกิดอีกก็เป็นเหตุให้โยมไม่สบายใจแล้ว ถ้าพูดกันตรงไปตรงมานั้น พระพุทธ-เจ้าท่านทรงสอนไม่ให้พวกเราไปเกิดนั่นแหละ เพราะมันเป็นทุกข์ ท่านวกไปวนมา แล้วมาพิจารณามองเห็นความเกิดนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความเกิดนี่แหละพาให้ทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา คือเมื่อมีการเกิดปั๊บก็มีตา ปาก จมูก มีสารพัดอย่างขึ้นมาพร้อมกันเลย แต่ว่าพวกเราก็ว่าตายไม่ได้ผุดเกิดนั้นฉิบหายเสียแล้ว นี่พระพุทธองค์ท่านสอนมันลึกที่สุด มันเป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้เราทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะการเกิดมา เพราะฉะนั้นท่านจึงพยายามขจัดความเกิด แต่ไม่ใช่ว่าการเกิด คือร่างกายมันเกิดนะ หรือการตายคือร่างกายที่มันตายนี่นะ แบบนี้เด็กๆมันก็รู้จักคนเราโดยมากจะรู้จักว่ามันตายตรงที่ร่างกายนี่ตาย ลมมันหมดแล้วนอนอยู่ ส่วนคนตายที่หายใจอยู่ ไม่ค่อยจะรู้กัน คนตายที่พูดได้เดินได้ วิ่งได้ คนไม่รู้จัก การเกิดก็เหมือนกัน เมื่อไปคลอดที่โรงพยาบาลก็ว่านั่นเกิดแล้ว แต่ว่าจิตที่มันเกิดที่มันวุ่นวายอยู่นั่นมองเห็น บางทีก็เกิดความรัก บางทีก็เกิดความเกลียด บางทีก็เกิดความไม่พอใจ บางทีก็เกิดความพอใจ บางทีก็เกิดความพอใจสารพัดอย่างล้วนแต่เรื่องเกิดทั้งนั้นแหละ มันทุกข์เพราะอันนี้เอง เมื่อตาไปเห็นรูปแล้วเกิดไม่ชอบใจก็ทุกข์แล้ว หูฟังเสียงชอบใจนี่ก็ทุกข์ มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น ฉะนั้นสิ่งทั้งปวงนี้ท่านสรุปว่า รวมแล้วนั้นมันมีแต่กองทุกข์ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์มันก็ดับ มีสองเรื่องเท่านั้น ทุกข์เกิด ทุกข์ดับทุกข์เกิด...ทุกข์ดับ เราก็ไปตะครุบมัน ตะครุบมันเกิด ตะครุบมันดับตะครุบอยู่อย่างนี้ มันไม่จบเรื่องกันสักที สุขไม่มี มีแต่ทุกข์น้อยลงเท่านั้น พระท่านจึงให้พิจารณาว่า รูป นามขันธ์ มันเกิดแล้วมันก็ดับนอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไร ถ้าพูดตามเป็นจริงแล้ว สุขมันไม่มีเลยมีแต่ทุกข์ ที่ดับไปนั้นก็ทุกข์ดับไปเฉยๆ ไม่ใช่สุขหรอก แต่เราไปหมายเอาตรงนั้นว่ามันสุข ก็ทุกข์อันเก่านั้นแหละ นี่มันละเอียด ตรงนั้นสุขเกิดขึ้นมาก็ดีใจ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็เสียใจ ถ้าความเกิดไม่มี ความดับมันก็ไม่มี ท่านจึงบอกว่าทุกข์เกิดและทุกข์ดับเท่านั้น นอกนั้นไม่มี แต่ว่าเราก็ไม่เห็นชัดว่ามันมีทุกข์อย่างเดียว เพราะว่าที่ทุกข์มันดับไปเราก็เห็นว่าเป็นสุข เลยตะครุบอยู่อย่างนั้น แต่ผู้ที่ซึ้งในธรรมะนั้นไม่ต้องรับอะไรแล้วมันสบาย ตามความเป็นจริงแล้วโลกที่เราอยู่นี้ ไม่มีอะไรทำไมใครเลยไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารเลย ไม่มีอะไรที่น่าร้องไห้หรือหัวเราะเพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ แต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา แต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ำเสมอแล้วไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้วมันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น เราก็จะสงบ ควรระงับทุกข์เพื่อให้เกิดสุข สิ่งที่มนุษย์เราต้องการอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องให้มันสงบ แต่ต้องการที่จะระงับทุกข์เพื่อให้มันเกิดสุข เมื่อมันมีสุขมีทุกข์อย่างนี้มันก็เรียกว่ามีภพมีชาติอยู่อย่างนั้น แต่ในความหมายของพระพุทธเจ้าแล้วให้ปฏิบัติจนมันเหนือสุขเหนือทุกข์ มันจึงจะสงบ แต่พวกเราคิดกันไม่ได้ ตรงนี้ก็ว่าสุขนั่นแหละดีแล้ว ได้สุขเท่านั้นก็พอแล้ว ฉะนั้นมนุษย์เราทั้งหลายจึงปรารถนาเอาแต่สิ่งที่มันได้มากๆ ได้มากๆนั่นแหละดี คิดกันอยู่แค่นี้ เห็นว่ามันสุขแค่นั้น หรือเรียกว่าการทำดีแล้วได้ดีแล้ว มันก็จบลงแค่นั้น ต้องการแค่นั้นก็พอแล้ว ได้ดีมันจบลงตรงไหนเล่า ดีแล้วก็ไม่ดี ไม่ดีแล้วก็ดี มันก็วกวน วกไปวกมาอยู่อย่างนั้น ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นตลอดวันยังค่ำ พระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่า หนึ่ง ให้ละความชั่วแล้วก็ให้ทำความดี ตอนที่สองท่านสอนว่า ความชั่วก็ต้องทิ้งมันเสีย ความดีก็ต้องทิ้งมันเสีย ต้องละมันเหมือนกัน คือไม่ต้องหมายมั่นมันเพราะว่ามันเป็นเชื้อเพลิงอันหนึ่ง มันมีเชื้ออยู่ มันก็จะเป็นเชื้อเพลิงให้มันลุกขึ้นมาอีก ความดีมันก็เป็นเชื้อ ความชั่วมันก็เป็นเชื้อ อันนี้ถ้าพอถึงขั้นนี้ มันก็ฆ่าคนเสียแล้ว คนเราก็คิดตามไม่ไหวเสียแล้ว ดังนั้นท่านจึงต้องยกเอาศีลธรรมมาสอนกัน ให้มีศีลธรรม อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้ทำงานตามหน้าที่ของตนเอง อย่าเบียดเบียนคนอื่น ท่านก็บอกให้ถึงขนาดนี้ แค่นี้ก็ยังไม่หยุดกันแล้ว มนุษย์ทุกคนในโลกอยู่ในกรง อย่างที่เราได้สวดธัมมจักกฯ วันนี้ก็มีข้อที่ว่า การเกิดอีกไม่มีเป็นชาติที่สุดแล้ว การเกิดของตถาคตไม่มีแล้ว นี่ท่านพูดเอาสิ่งที่เราไม่ปรารถนากัน ถ้าเราฟังธรรมะมันก้าวก่ายกันอยู่อย่างนี้ เราจะให้สว่างกับธรรมะนั้นไม่มีเลยโยม อาตมาก็ปฏิบัติมาหลายเมืองหลายที่ร้อยคนพันคน จะมีใครที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ไม่ค่อยจะมี นอกจากว่าพระกรรมฐานด้วยกัน ที่พูดถูกกันที่เห็นด้วยกันอย่างนั้น ผู้ที่จะพ้นจากวัฏฏสงสารจริงๆมีน้อย ยิ่งถ้าพูดถึงธรรมะอันละเอียดจริงๆแล้ว โยมก็กลัว ไม่กล้า ขนาดพูดแค่ว่าอย่าไปทำความชั่ว เท่านี้ก็ยังไม่ค่อยจะได้ อาตมาได้เคยเทศน์ให้โยมฟังแล้วว่าโยมจะดีใจก็ตาม จะเสียใจก็ตาม สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ร้องไห้ก็ตาม ร้องเพลงก็ตามเถอะ อยู่ในโลกนี้ก็เหมือนอยู่ในกรงเท่านั้นแหละไม่พ้นไปจากกรง ถึงเราจะรวยก็อยู่ในกรง มันจะจนก็อยู่ในกรง มันจะร้องไห้ก็อยู่ในกรง มันจะรำวงอยู่ก็รำวงอยู่ในกรง มันจะดูหนังก็ดูหนังอยู่ในกรง กรงอะไรเล่า กรงคือความเกิด กรงคือความแก่กรงคือความเจ็บ กรงคือความตาย เปรียบเหมือนอย่างนกเขาที่เลี้ยงเอาไว้ เอานกเขามาเลี้ยงไว้แล้วก็ฟังเสียงขันของมัน แล้วก็ดีใจว่านกเขามันขันดี นกเขามันเสียงโต นกเขามันเสียงเล็ก ไม่ได้ไปถามนกเขามันเลยว่ามันสนุกหรือเปล่า เพราะเราก็ว่าฉันเอาข้าวให้มันกิน เอาน้ำให้มันกินแล้วทุกอย่างอยู่ในกรงทั้งหมดแล้ว ก็นึกว่านกเขามันจะพอใจ เรานึกหรือเปล่าว่า ถ้าหากเขาเอาข้าวเอาน้ำให้กินโดยให้เราไปขังอยู่ในกรงนั้นเราจะสบายใจไหม มันไม่ได้คิดอย่างนี้ ก็นึกว่านกเขามันสบายแล้ว น้ำมันก็ได้กิน ข้าวมันก็ได้กิน มันจะไปทุกข์อย่างไร พอคิดแค่นี้ก็หยุดแล้ว แต่ว่านกเขามันจะตายอยู่แล้ว มันอยากจะบินไป มันอยากจะออกจากกรงไป แต่เจ้าของนกนั้นไม่รู้เรื่อง ก็ว่านกเขาของฉันมันขันดีนะ กลางคืนมันก็ขัน เวลาเดือนหงายมันก็ขัน ยังคุยโง่ไปโน่นอีก ยิ่งแบกก็ยิ่งหนัก มันเหมือนกับเราขังกันอยู่ในโลกนี้แหละ อันนั้นก็ของฉันอันนี้ก็ของฉัน อันนี้ก็ของฉันสารพัด ไม่รู้เรื่องของเจ้าของ ความเป็นจริงนั้น เราสะสมความทุกข์ไว้ในตัวของเรานั่นเอง ไม่อื่นไกลหรอก แต่เราไม่มองถึงตัวเหมือนเราไม่มองถึงนกเขา เราเห็นว่ามันสบายกินน้ำได้ กินอาหารก็ได้ตลอด เราก็เลยเห็นว่ามันสุข ถึงมันจะแสนสุขแสนสบายเท่าไรก็ช่างเถอะ เมื่อมันเกิดมาแล้วต่อไปมันก็ต้องแก่ แก่แล้วต้องเจ็บ เจ็บก็ต้องตาย นี่มันเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ แต่เราก็มาปรารถนาอีกว่า "ชาติหน้าขอให้ฉันได้เกิดเป็นเทวดาเถิด" มันก็หนักกว่าเก่าอีก แต่เราก็คิดว่ามันสบายตรงนั้น นี่คือความคิดของคนมันยิ่งหนัก พระพุทธองค์ทรงสอนว่า "ทิ้ง" เราก็ว่า "ฉันทิ้งไม่ได้" ก็เลยยิ่งแบกยิ่งหนักไปเรื่อย คือความเกิดมันเป็นเหตุให้หนัก แต่เรามองกันไม่เห็น ถ้าว่าไม่เกิด เราก็ว่ามันบาปที่สุดแล้ว คนตายไม่เกิด บาปที่สุดแล้ว ฉะนั้นเราจะทะลุปรุโปร่งเรื่องธรรมะนี้มันจึงยาก สิ่งสำคัญของคนเรา เรื่องที่สำคัญอันหนึ่ง คือเราจะต้องมาภาวนามาพิจารณากันทุกๆคน ทุกคนก็จะพ้นทุกข์ได้ทั้งนั้นแหละ อย่างบ้านเรานี้เรียกว่าเป็นเจ้าของพุทธศาสนา แต่เราก็ทิ้งหลักธรรมพุทธศาสนาที่แท้จริงกันได้ แต่ถือกันมาเรื่อยๆ แต่เรื่องจะมาภาวนากันนั้นไม่ค่อยจะมี แม้ตลอดจนถึงพระภิกษุจะมาภาวนาเรื่องจิตใจของเราเป็นอย่างไรนั้น ก็ไม่ค่อยจะมี เรียกว่าเราห่างไกลกันเหลือเกิน ห่างจากพุทธศาสนา และอีกอย่างหนึ่ง คือพวกเรามักจะเข้าใจว่าบวชจึงจะปฏิบัติได้ โยมผู้หญิงก็บอกว่า "อยากเป็นผู้ชายเว้ย... จะหนีไปบวชซะหรอก" นี่ก็นึกว่าบวชนั้นจึงจะดี ทำความดีได้ แต่นักบวชให้ย้อนกลับไปถึงเราดีๆเถอะการทำความดีความชั่วมันอยู่กับตัวเราทั้งนั้น อย่าไปพูดถึงการบวชหรือการไม่บวช ขอแต่ว่าเราสร้างความดีของเราเรื่อยไป นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องละบาป ฉะนั้นเรื่องของศาสนานี้ ก็คือเรื่องให้ปล่อยตัวออกจากกรงนั่นเอง ที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ ที่เรามาสมาทานศีล มาฟังธรรม ก็เพื่อแก้ปัญหาอันนี้ เรื่องแก้ปัญหาชีวิตของเรานี้เบื้องต้นพระพุทธองค์หรือนักปราชญ์ทั้งหลายท่านสอนว่าให้มีศีลธรรม ให้รู้จักศีลธรรม เช่นเพชรเม็ดนี้ของใครนะฉันอยากได้ แต่ฉันจะขโมยเอาก็กลัวจะบาป นี่เท่านี้ก็พอแล้ว เรียกว่าศีลธรรม ถ้าเราเห็นอย่างนี้ก็จะเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว อาตมาเคยพูดว่าพวกเราทั้งหลายในปีสองปีมานี้ชอบทำบุญสุนทานกันมาก การคมนาคมก็สะดวก ไปทัศนาจรแสวงบุญกัน แต่มามองดูแล้วมันไปแสวงบุญอย่างเดียว แต่มันไม่แสวงหาการละบาป มันผิดคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าให้เราละบาปก่อนจึงบำเพ็ญบุญ ไปทำบุญ ไม่ละบาปมันก็ไม่หมด มันเป็นเชื้อโรคติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา มันจึงเดือดร้อนกัน หัวใจพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ให้ทำความผิด แล้วก็ทำจิตให้เป็นกุศลแล้วก็จะเกิดปัญญา แต่ทุกวันนี้ทำบุญกัน แต่การละบาปนั้นไม่มีใครคิดเห็น ความเป็นจริงนั้นก็ต้องละบาปก่อนจึงบำเพ็ญบุญกุศล ถ้าบาปไม่ละจะเอาบุญไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่จะอยู่หรอกบุญนั้น ฉะนั้นเราต้องกวาดเครื่องสกปรกออกจากใจของเราเสีย แล้วจึงจะทำความสะอาด เรื่องนี้พวกเราควรจะเอาไปคิดพิจารณา อำนาจของพระธรรมจักมีได้อย่างไร? พวกเราทุกวันนี้เรียกว่ามันขาดการภาวนา ขาดการพิจารณาจึงไม่ได้ข้อประพฤติปฏิบัติ เมื่อไม่เห็นชัดก็ไม่ได้ปฏิบัติ มันจึงแก้ปัญหาไม่ได้ มันไม่มีใครถอยออกมาพิจารณา ให้มันเห็นชัดตามหลักพุทธศาสนา เช่นว่า เจ้านายบางคนก็มากราบหลวงพ่อ ถามว่า "บ้านเมืองมันจะเป็นอย่างไรหนอ คงจะไม่เป็นอะไรมั้งครับ มันมีอำนาจของพระพุทธ อำนาจของพระธรรม อำนาจของพระสงฆ์ มีอำนาจของพระพุทธศาสนา" พระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจอะไรเลย แม้ก้อนทองคำก็ไม่มีราคาถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคา ทองคำมันก็จะถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละ พระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่ แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติจะไปมีอำนาจอะไรเล่า อย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่แต่เราไม่อดทนกัน มันจะมีอำนาจอะไรไหม อำนาจแห่งธรรมมาจากการปฏิบัติ อำนาจหลักพระพุทธศาสนา ก็คือพวกเราที่เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนานี่แหละ ช่วยกันบำรุง เช่นทำศีลธรรมให้เกิดขึ้นมา มีความสามัคคีกัน มีความเมตตาอารีซึ่งกันและกัน มันก็เกิดขึ้นมาเป็นกำลังของพุทธศาสนา ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนานั้นมันจะมีอำนาจ ที่มีอำนาจก็เพราะเราเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติให้ถูกต้อง มันจึงจะมีพลังเกิดขึ้นมา ช่วยแก้ปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างเช่นคนในศาลานี้มันตั้งใจจะรบกัน แต่พอมาฟังธรรมะที่ว่าการอิจฉาหรือการพยาบาทมันไม่ดี เข้าใจทุกๆคน เท่านั้นก็เลิกกัน อำนาจพุทธศาสนาก็เต็มเปี่ยมขึ้นมาเดี๋ยวนั้น แต่ถ้าพูดให้ฟังเท่าไรๆก็ไม่ยอมกัน มันก็รบกันเท่านั้นแหละ พุทธศาสนาจะมากันอะไรได้ นี่มันเป็นอย่างนี้




กลับหน้าหลัก

ที่มา : http://archive.org/details/VenAjahnChah | บทสำหรับอ่าน | เสียงธรรมเทศนาต้นฉบับภาษาอิสาน