ทำใจให้เป็นบุญและธรรมะธรรมชาติ


ทำใจให้เป็นบุญ โอกาสที่พวกเราจะได้มารวมกันแต่ละครั้ง นี้ก็ลำบากนะนับว่าเป็นมงคลอันหนึ่งที่ได้มาถวายสังฆทาน และได้มาฟังธรรมที่วัดหนองป่าพง เมื่อคืนคงได้ฟังหลายกัณฑ์ละมังนี่ อาตมาได้ขอโอกาสแก่พระสงฆ์ทั้งหลายและญาติโยมแล้ว ให้พระสงฆ์ทำธุระแทน กำลังมันน้อยทุกวันนี้ ลมมันน้อย เสียงมันก็น้อย ทำไมมันจึงน้อย มันจะหมดนะแหละ น้อยๆลง เดี๋ยวก็หมดแหละ มาที่นี่นับเป็นโชคดีที่ยังเห็นตัวเห็นตนอยู่นะ ถ้านานๆไปมันจะไม่ได้เห็นแล้ว จะเห็นก็แต่วัดเท่านั้นแหละ ต่อจากนี้ให้ตั้งใจฟังธรรม ระยะเวลานี้พวกเราแสวงบุญกันมาก มีคนแสวงบุญกันมากทุกแห่ง ที่ไหนที่ไหนก็มาผ่านวัดป่าพง ที่จะไปก็ผ่านนี้ ที่ไม่ผ่านกลับมาก็ต้องผ่านนี้ ทอดผ้าป่าทอดกฐินทุกครั้ง ถ้าขาไปไม่พบขากลับก็ต้องมาผ่าน ก็คือต้องผ่านทั้งนั้น ฉะนั้นวัดป่าพงจึงเป็นเมืองผ่าน ผ่านไปชั่วคราว ผ่านไปผ่านมา บางคนที่มีธุระรีบร้อนก็ไม่ได้พบกันไม่ได้พูดกัน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเวลาของพวกเราโดย มากก็มาแสวงหาบุญกัน แต่ว่าไม่เคยเห็นญาติโยมที่แสวงหาการละบาป มีแต่แสวงบุญเรื่อยไป ไม่รู้จะเอาบุญไปไว้ตรงไหน

ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ นี่มันเป็นอย่างนั้น คำสอนของพระท่านพูดไปโดยตรง ง่ายๆ แต่มันยากกับคนที่จะต้องปฏิบัติ มันยากเพราะคนไม่รู้ เพราะคนรู้ไม่ถึง มันจึงยาก ถ้าคนรู้ถึงแล้ว มันก็ง่ายขึ้นนะ

อาตมาเคยสอนว่าเหมือนกันกะรู มีรูอันหนึ่ง ถ้าเราเอา มือล้วงเข้าไปไม่ถึงก็นึก ว่ารูนี้ มันลึกทุกคนตั้งร้อยคนพันคนนึกว่ารูมันลึก ก็เลยไปโทษรูว่ามันลึกเพราะล้วงไปไม่ถึง คนที่จะว่าแขนเราสั้นไม่ค่อยมี ร้อยก็ทั้งร้อยว่ารูมันลึกทั้งนั้น คนที่จะว่าไม่ใช่ แขนเรามันสั้น ไม่ค่อยมีคนแสวงหาบุญเรื่อยๆไป วันหลังต้องมาแสวงหาการละบาปกันเถอะไม่ค่อยจะมี นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ คำสอนของพระท่านบอกไว้สั้นๆแต่คนเรามันผ่านไปๆ ฉะนั้นวัดป่าพงมันจึงเป็นเมืองผ่าน ธรรมะก็จึงเป็นเมืองผ่านของคน

สพฺพปาปสฺสอกรณํกุสลสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระนัง

เอตัง พุทธานะสาสะนัง

อันนี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่เราข้ามไปโน้น เราไปเอาอย่างนี้ การละบาปทั้งปวง น้อยใหญ่ทางกายวาจาใจน่ะเป็นเลิศประเสริฐแล้ว

เอตัง พุทธานะสานะนัง อันนี้เป็นคำสอนของพระ อันนี้เป็นตัวศาสนา อันนี้เป็นคำสั่งสอนที่แท้จริง

ธรรมดาของเรานะ เวลาจะย้อมผ้า ก็จะต้องทำผ้าของเราให้สะอาดเสียก่อน อันนี้ไม่อย่างนั้นสิ เราไปเที่ยวตลาด เห็นสีมันสวยๆก็นึกว่าสีนั้นสวยดี เราจะย้อมผ้าละ ไม่ดูผ้าของเรา จับสีขึ้นมา เห็นสีสวยๆ ก็จะเอามาย้อมผ้าอย่างนั้นแหละ เอามาถึงก็เอามาย้อมเลย ผ้าของเรายังไม่ได้ฟอก ไม่สะอาด มันก็ยิ่งขี้เหร่ไปกว่าเก่าเสียแล้ว เราคิดดูซิ กลับไปนี่ เอาผ้าเช็ดเท้าไปย้อมไม่ต้องซัก ละนะ จะดีไหมน่ะ?

ดูซิ นี่ละ พระพุทธเจ้าท่านสอนกันอย่างนี้ เราข้ามกันไปหมด พากันทำบุญ แต่ว่าไม่พากันละบาป ก็เท่ากับว่ารูมันลึก ใครๆก็ว่ามันลึก ตั้งร้อยตั้งพันก็ว่ารูมันลึก คนจะว่าแขนมันสั้นนะไม่ค่อยจะมี มันต้องกลับ ธรรมะต้องถอยหลังกลับมาอย่างนี้ ถึงจะมองเห็นธรรมะมันต้องมุ่งหน้ากันไปอย่างนี้

บางทีก็พากันไปแสวงหาบุญกัน ไปรถบัสคันใหญ่ๆสองคันสามคัน พากันไป ไปกันบางทีทะเลาะกันเสียบนรถก็มี บางทีกินเหล้าเมากันบนรถก็มี ถามว่าไปทำไมไปแสวงบุญกัน ไปแสวงหาบุญ ไปเอาบุญ แต่ไม่ละบาป ก็ไม่เจอบุญกันสักที มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ อันนี้มันอยู่อย่างนี้ มันจะสะดุดเท้าเราใช่ไหมให้มองดูใกล้ๆมองดูตัวเรา พระพุทธเจ้าท่าน ให้มองดูตัวเรา ให้สติสัมปชัญญะอยู่รอบๆตัวเรา ท่านสอนอย่างนี้ บาปกรรมทำชั่วทั้งหลายมันเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ บ่อเกิดของบาปบุญคุณโทษก็คือกาย วาจา ใจ เราเอากาย วาจา ใจมาด้วยหรือเปล่าวันนี้ หรือเอาไว้ที่บ้าน นี่ต้องดูอย่างนี้ ดูใกล้ๆอย่า ไปดูไกล เราดูกายของเรานี่ ดูวาจา ดูใจของเรา ดูว่าศีลของเราบกพร่องหรือไม่อย่างนี้ ไม่ค่อยจะเห็นมี

โยมผู้หญิงเราก็เหมือนกันแหละ ล้างจานแล้วก็บ่นหน้าบูดหน้าเบี้ยวอยู่นั้นแหละ มัวไปล้างแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่สะอาด นี่มันไม่รู้เรื่อง เห็นไหม ไปมองดูแต่จาน มองดูไกลเกินไปใช่ไหม ดูนี่ซิ ใครคงจะถูกเข้าบ้างละ มังนี่ นี่ให้ดูตรงนี้มันก็ไม่สะอาดแต่จานเท่านั้นแหละ แต่ใจเราไม่สะอาด นี่มันก็ไม่ดี เรียกว่าเรามองข้ามตัวเอง ไม่มองดูตัวเอง ไปมองดูแต่อย่างอื่น จะทำความชั่วทั้งหลาย ก็ไม่เห็นตัวของเรา ไม่เห็นใจของเรา

ภรรยาก็ดี สามีก็ดี ลูกหลานก็ดี จะทำความชั่วแต่ละอย่างก็ต้องมองโน้นมองนี้ แม่จะเห็นหรือเปล่า ลูกจะเห็นหรือเปล่า สามีจะเห็นหรือเปล่า ภรรยาจะเห็นหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มีใครเห็นแล้วก็ทำ อันนี้มันดูถูกเจ้าของว่า คนไม่เห็นก็ทำดีกว่า รีบทำเร็วๆ เดี๋ยวคนจะมาเห็น แล้วตัวเราที่ทำนี่มันไม่ใช่คนหรือ เห็นไหม นี่มันมองข้ามกันไปเสียอย่างนี้ จึงไม่พบของดีไม่พบธรรมะ ถ้าเรามองดูตัวของเรา เราก็จะเห็นตัวเรา จะทำชั่วเราก็รู้จัก ก็จะได้ห้ามเสียทันที จะทำความดีก็ให้ดูที่ใจ เพราะเราก็มองเห็นตัวของเราอยู่แล้ว ก็จะรู้จักบาป รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักผิด รู้จักถูก อย่างนี้ก็ต้องรู้สึกสิ นี่ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้ เราโลภก็ไม่รู้ เราหลงก็ไม่รู้ อะไรๆเราก็ไม่รู้ไปมุ่งกันอย่างอื่น นี่เรียกว่าโทษของคนที่ไม่มองดูตัวของเราถ้าเรามองดูตัวของเรา เราก็จะเห็นชั่วเห็นดีทุกอย่าง อันนี้ดีก็จะได้เก็บไว้ แล้วเอามาปฏิบัติ เก็บดีมาปฏิบัติ ดีก็ทำตาม ความชั่วเก็บมาทำไม เก็บมาเพื่อเหวี่ยงทิ้ง

การละความชั่ว ประพฤติความดี นี่เป็นหัวใจของพระ-พุทธศาสนา

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละถูกแล้ว

เป็นคำสอนของพระ ถูกแล้วสะอาดแล้วละทีนี้

ต่อนั้นไปก็ กุสะละสูปะสัมปะทา คือ ทำใจให้เป็นบุญ เป็นกุศล

คงรู้จักแล้ว เมื่อจิตเป็นบุญ จิตเป็นกุศลแล้ว เราก็ไม่ต้องนั่งรถไปแสวงหาบุญที่ไหนใช่ไหม นั่งอยู่ที่บ้านเราก็จับบุญเอา จับเอา ก็เรารู้จักแล้ว อันนี้ไปแสวงหาบุญกันทั่วประเทศ แต่ไม่ละบาป กลับไปบ้านก็กลับไปเปล่าๆ ไปทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวอย่างเก่าอยู่นั่นแหละ ไปล้างจานหน้าบูดอยู่นั้นแหละ ไปดูแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่สะอาด ไม่ค่อยจะดูกัน นี่คนเรามันพ้นจากความดีไปเสียอย่างนี้

คนเราน่ะมันรู้ แต่ว่ามันรู้ไม่ถึงเพราะรู้ไม่ถึงใจของเรา ฉะนั้นหัวใจของพระศาสนาจึงไม่ผ่านเข้าหัวใจของเรา ใช่ไหม เมื่อจิตของเราเป็นบุญเป็นกุศลแล้วมันก็จะสบาย นั่งยิ้มอยู่ในใจของเรานั้นแหละ แต่นี่หาเวลายิ้มได้ยากใช่ไหมนี่ เวลาที่เราชอบใจถึงยิ้มได้ใช่ไหม เวลาไม่ชอบใจละก็ยิ้มไม่ได้ จะทำยังไง ไม่สบายหรือสบายแล้ว

คนเราต้องมีอะไรชอบใจเราแล้วจึงจะสบาย ต้องให้คนในโลกทุกคนพูดทุกคำให้ถูกใจเราหมด แล้วจึงจะสบายอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะสบายได้เมื่อไร มีไหมใครจะพูดถูกใจเราทุกคน มีไหมนี่ แล้วเราจะเอาสบายได้เมื่อไร

เราต้องอาศัยธรรมะนี่ถูกก็ช่าง ไม่ถูกก็ช่างเถอะ เราอย่าไปหมายมั่นมัน จับดูแล้วก็วางเสีย เมื่อใจมันสบายแล้ว ก็ยิ้มอยู่อย่างนั้นแหละ

อะไรที่ว่ามันไม่ดี ไม่พอใจของเราเป็นบาป มันก็หมดไป มีอะไรดี มันก็คงต้องเป็นไปของมันอย่างนั้น

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เมื่อชำระบาป แล้ว มันก็หมดกังวลใจก็สงบ ใจเป็นบุญเป็นกุศล

เมื่อใจเป็นบุญเมื่อใจเป็นกุศลแล้วใจก็สบายสว่าง เมื่อจิตใจมันสว่างแล้ว ก็ละบาป ใจสว่างใจผ่องใส จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันก็สบาย เมื่อสบายสงบแล้วนั่นแหละ คือคุณสมบัติของมนุษย์ที่แท้เต็มที่ ที่เราอยู่สบายนั้นแหละ

ทีนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบใจ ถ้าเขาพูดชอบใจเราก็ยิ้ม ถ้าเขาพูดไม่ชอบใจเราก็หน้าบูด เมื่อไรใครจะพูดให้ถูกใจเราทุกๆวันมีไหม แม้แต่ลูกในบ้านเรา เคยพูดถูกใจเราไหม เราเคยทำให้พ่อแม่ถูกใจหรือเปล่า แน่ะ ไม่ใช่แต่คนอื่น แม้แต่หัวใจของเราเองก็เหมือนกัน บางทีคิดขึ้นมาไม่ชอบใจเหมือนกัน แล้วทำอย่างไร แน่ะ บางทีเดินไปตำหัวตอสะดุดปึ๊ก ฮึ! มันอะไรล่ะใครไปสะดุดมันล่ะ จะไปว่าใครล่ะ ก็ตัวเราทำเองนี่ จะทำยังไงก็แต่ใจเราเองยังไม่ถูกใจตัวของเราเอง ให้เราคิดดูสิ อันนี้มันเป็นอย่างนี้ละ มีบางอย่างเราก็ทำไม่ถูกใจเราเอง ก็ได้แต่ ฮึ! ก็ไม่รู้จะไปฮึ! เอาใคร นี่ล่ะมันไม่เที่ยงอย่างนี้

บุญในทางศาสนา

บุญในทางพุทธศาสนาคือการละบาป เมื่อละบาปแล้วมันก็ไม่มีบาป ไม่มีบาปมันก็ไม่ร้อน ไม่ร้อนมันก็เย็น จิตที่สงบแล้วนั้นจึงว่าเป็นกุศลจิต ไม่คิดโมโห มันก็ผ่องใส ผ่องใสด้วยวิธีอะไรก็ให้โยมรู้จักว่า แหมวันนี้น่ะ ใจมันดุเหลือเกิน ไปมองดูอะไร แม้แต่จะมองดูถ้วยในตู้ มันก็ไม่สลาย อยากจะทุบมันทิ้งให้หมดทุกใบเลย ไปดูอะไรก็ไม่ชอบใจไปเสียทั้งนั้น ดูใคร ดูเป็ด ดูไก่ดูสุนัข ดูแมว ไม่ชอบใจ แม้แต่ พ่อบ้านพูดขึ้นมาก็ไม่ชอบใจ เมื่อดูในใจของเราก็ไม่ชอบใจของเรา ทีนี้ก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหนแล้วละทำไมมันถึงได้เกิดความร้อนอย่างนี้ นั้นแหละที่เรียกว่าคนหมดบุญล่ะ เดี๋ยวนี้เรียกคนตายว่าคนหมดบุญแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น คนที่ไม่ตายแต่หมดบุญมีเยอะ คือคนที่ไม่รู้จักบุญ ใจมันเป็นแต่บาปอยู่อย่างนั้น จึงสะสมแต่บาปอยู่

โยมไปทำความดี ก็เหมือนโยมอยากได้บ้านสวยๆ จะปลูกบ้านแต่ ไม่ปราบที่มันเสียก่อน เดี๋ยวบ้านมันก็จะพังเท่านั้นเองใช่ไหม สถาปนิก ไม่ดีนี่ อันนี้ก็ต้องทำเสียใหม่ พยายามใหม่ให้เราดูของเรา นะ ดูข้อบกพร่องของเรา ดูกาย ดูวาจา ดูใจของเรา กายเรานี่ก็มีอยู่แล้ว วาจาก็มีอยู่แล้ว ใจ ก็มีอยู่แล้ว จะไปหาที่ปฏิบัติที่ไหนเล่า ไม่ใช่มันหลงหรือนี่ จะไปหาที่ปฏิบัติอยู่ในป่า วัดป่าพงสงบเรอะ ไม่สงบเหมือนกัน ที่บ้านเรานั่นแหละ มันสงบ

ถ้าเรามีปัญญา ที่ไหนที่ไหน มันก็สบาย มันสบายทั้งนั้น โลกทั้งหลายเขาถูกต้องของเขาหมดแล้ว ต้นไม้ทุกต้นมันก็ถูกต้องตามสภาพของมันแล้ว ต้นยาวก็มี ต้นสั้นก็มี ต้นที่มันเป็นโพรงก็มี สารพันอย่างของเขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น มีแต่ตัวเรานั่นแหละไปคิด เพราะไม่รู้เรื่อง เฮ้ ต้นไม้นี่ มันยาวไป อ้ายต้นนี้มันสั้นไป อ้ายต้นนี้มันเป็นโพรง ต้นไม้น่ะเขาอยู่เฉยๆเขาสบายกว่าเรา ฉะนั้น จึงไปเขียนคำโคลงไว้ที่ต้นไม้ดีกว่า ให้ต้นไม้มันสอนเรา ได้อะไรบ้างหรือไม่ล่ะ มาวันนี้ได้อะไรที่ต้นไม้ไปบ้างไหม ต้องเอาให้ได้สักอย่างหนึ่งน่ะ ต้นไม้หลายต้น มีทุกอย่างที่จะสอนเราได้ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะมันมีอยู่ทุกสภาพตามธรรมชาติทุกอย่าง ให้เข้าใจนะ อย่าไปติเสียว่ารูมันลึก เข้าใจไหมให้วกมาดูแขนของเราสิ อ้อ แขนของเรามันสั้น อย่างนี้ก็สบาย เมื่อจะตรวจก็ให้รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไร อย่าไปว่าแต่ว่า รูมันลึก ให้เข้าใจเสียบ้างอย่างนั้น บุญกุศลใดๆ ที่เราทำให้มันมีไว้ในใจแล้ว นั่นละมันเลิศ ที่ทำบุญกันวันนี้ก็ดี แต่ว่ามันไม่เลิศ จะสร้างวัตถุอะไรถาวรก็ดีแต่ว่ามันไม่เลิศ ถ้าสร้างใจให้เป็นบุญนั่นแหละ มันจึงเลิศ มานั่งที่นี่ก็สบาย กลับไปบ้านก็สบาย ให้มันเลิศ ให้มันเป็นบุญไว้นะ อันนี้มันเป็นเพียงตัววัตถุ เป็นกะพี้ของแก่น แต่ว่าแก่นมันจะมีได้ก็ต้องอาศัยกะพี้ มันเป็นเสียอย่างนั้น แก่นมันต้องอาศัยกะพี้ มีกะพี้จึงมีแก่น ให้เข้าใจอย่างนั้น

ทุกอย่างก็เหมือนกันฉันนั้น ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญาแล้ว มองดูที่ไหนที่ไหนมันก็จะเห็นธรรมะทั้งนั้น ถ้าคนขาดปัญญาแล้ว มองไปเห็นสิ่งที่ว่าดี มันก็เลยกลายเป็นไม่ดี ก็ความไม่ดี มันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ ตามันเปลี่ยน จิตใจมันก็เปลี่ยน อะไรๆมันก็เปลี่ยนไปทั้งนั้น สามีภรรยาเคยพูดกันสบายๆเอาหูฟังได้ อีกวันหนึ่งใจมันไม่ค่อยดี ใครพูดอะไรมันก็ไม่เข้าท่า ไม่รับทั้งนั้น มันไม่เอาทั้งนั้นแหละ ใช่ไหม ใจมันไม่ดี ใจมันเปลี่ยนไปเสียแล้ว มันเป็นเสียอย่างนั้น ฉะนั้น การละความชั่ว ประพฤติความดี จึงไม่ต้องไปหาที่อื่น ถ้าใจมันไม่ดีขึ้นมาแล้ว อย่าไปมองคนโน้นหรือไปว่าคนโน้นว่าคนนี้ ให้ดูใจของเราว่าใครเป็นผู้พูดอะไร ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ จิตใจทำไมมันเป็นอย่างนี้ นะ นี่ให้เข้าใจว่าลักษณะทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยง ความรักมันก็ไม่เที่ยง ความเกลียดมันก็ไม่เที่ยง

"เราเคยรักลูกบ้างไหม" ถามอย่างนี้ก็ได้ "รัก เคยรัก" อาตมาตอบแทนเอง

"เคยเกลียดบ้างไหม" ตอบแทนเลยเนาะ "นี่บางทีก็เกลียดมัน"

"ทิ้งมันได้ไหม" "ทิ้งไม่ได้"

"ทำไม""ลูกคนไม่เหมือนลูกกระสุน" ลูกกระสุนยิงโป้งออกไปข้างนอก ลูกคนยิงโป้งมาโดนที่ใจเรานี้ ดีก็มาถูกตัวนี้ชั่วก็มาถูกตัวนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันเป็นกรรม ลูกเรานั่นแหละมีคนดีมีคนชั่ว ทั้งดีทั้งชั่วก็เป็นลูกเราทั้งนั้น เขาเกิดมาแล้ว ดูสิคนที่ไม่ดูขนาดไหนก็ยิ่งรักเกิดมาเป็นโรคโปลิโอ ขาเป๋ ดูซิ รักคนนั้นกว่าเขาแล้ว จะออกไปจากบ้านเพราะรักคนนี้ จึงต้องสั่งว่า ดูน้องดูคนนี้ด้วยเถิด เมื่อจะตายจากไปก็สั่งไว้ให้ดู ให้ดูคนนี้ ดูลูกฉันคนนี้ มันไม่แข็งแรงยิ่งรักมันมาก ถ้าเป็นผลไม้ มันเน่า ละก็เหวี่ยงเข้าป่าไปเลย ไม่เสียดาย แต่คนเน่ายิ่งเสียดายมันลูกเรานี่ ทำอย่างไรเล่า นี่ให้เข้าใจเสียอย่างนี้

ฉะนั้นจงทำใจไว้เสียดีกว่านะ รักครึ่งชังครึ่งอย่าทิ้งมันสักอย่าง ให้มันอยู่รวมๆกัน ของๆเรานี่ นี่คือกรรมกรรมนั้นละเป็นของเก่าของเราละน้อ นี่มันก็สมกันกับเจ้าของ เขาคือกรรม? ก็ต้องเสวยไป ถ้ามันทุกข์ใจเข้ามาเต็มที่ก็ ฮึ กรรมนะกรรม ถ้ามันสบายใจดีก็ ฮึ กรรมนะ บางทีอยู่ที่บ้าน ทุกข์ก็อยากหนีไป น่ะมันวุ่นวาย ถ้ามันวุ่นวายเข้าจริงๆ บางทีอยากผูกคอตายก็มี กรรม เราต้องยอมรับมันอย่างนี้เรื่อยๆไป สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ต้องทำล่ะซี เท่านี้ก็พอมองเห็นเจ้าของแล้วใช่ไหม พอมองเห็นเจ้าของแล้วนะ นี่เรื่องการพิจารณาสำคัญอย่างนี้

เรื่องการภาวนา อารมณ์ที่เรียกว่าภาวนา เขาเอาพุทโธธัมโม สังโฆ มาภาวนาทำกรรมฐานกัน แต่เราเอาสั้นกว่านั้น เมื่อรู้สึกว่าใจมันหงุดหงิด ใจไม่ดี โกรธ เราก็ร้อง ฮึ เวลาใจดีขึ้นมาก็ร้อง ฮึ ว่ามันไม่เที่ยงดอก ถ้ามันรักคนนั้นขึ้นมาในใจก็ ฮึ ถ้ามันจะโกรธคนนั้นขึ้นมาก็ ฮึ เข้าใจไหม ไม่ต้องไปดูลึก ไม่ต้องไปดูพระไตรปิฎกหรอก ไอ้ ฮึ นี่เรียกว่ามันไม่เที่ยง ความรักนี่มันก็ไม่เที่ยง ความชังนี่มันก็ไม่เที่ยง ความดีมันก็ไม่เที่ยง ความชั่วมันก็ไม่เที่ยง มันเที่ยงอย่างไรเล่า มันจะเที่ยงตรงไหมมันเที่ยงก็เพราะของเหล่านั้นมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น คือมันเที่ยงอย่างนี้มันไม่แปรเป็นอย่างอื่น มันเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าความเที่ยง เที่ยงก็เพราะว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้แปรเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวมันก็รักเดี๋ยวมันก็ชัง มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่คือ มันเที่ยงอย่างนี้ ฉะนั้น จึงจะบอกว่าเมื่อความรักเกิดขึ้น เราก็บอกฮึ มันไม่เปลืองเวลาดี ไม่ต้องว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วถ้าโยมขี้เกียจภาวนามาก เอาง่ายๆดีกว่า คือ ถ้า มันเกิดมีความรักขึ้นมา มันจะหลงก็ร้อง ฮึ เท่านี้แหละ

อะไรๆมันก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น มันเที่ยงก็เพราะมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เห็นเท่านี้ก็เห็นแก่น ของธรรมะ คือสัจธรรม อันนี้ถ้าเรามา ฮึ กันบ่อยๆ ค่อยๆทะยอยไป อุปาทานก็จะน้อยไป น้อยไปอย่างนี้แหละ ความรักนี้ฉันก็ไม่ติดใจ ความชั่วฉันก็ไม่ติดใจ อะไรๆ ฉันก็ไม่ติดใจทั้งนั้นอย่างนี้จึงจะเรียกว่า ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น เชื่อสัจธรรมอย่างเดียว รู้ธรรมะเท่านี้ก็พอแล้วโยม จะไปดูที่ไหนอีกเล่า

วันนี้มีโชคด้วยได้อัดทั้งเทปภายนอกภายใน เข้าหูตรงนี้ก็อัดเข้าตรงนี้ก็ได้ เทปนั้น ก็จะได้มีทั้งสองอย่าง ถ้าโยมทำไม่ได้อย่างนี้ก็ไม่ค่อยจะดีเสียละมังเนาะ ไม่ต้องมา วัดป่าพงอีกละมัง นี่ข้างในก็อัด ข้างนอกก็อัดแต่ว่าเทปนี้มันไม่ค่อยสำคัญดอก เทปในใจนั่นละมันสำคัญกว่าเทปอันนี้มันเสื่อมได้ ซื้อมาแล้วมันก็เสื่อมได้ เทปภายในของเรานั้นน่ะ เมื่อมันถึงใจแล้วมัน ดีเหลือเกินนะโยม มันมีอยู่ตลอด เวลา ไม่เปลืองถ่านไปอัดอยู่ในป่าพูดอยู่นั่นแล้ว ในวันในพรุ่ง ให้มันรู้อยู่ อย่างนั้นแหละ มันรู้ว่ากระไร ภาวนาพุทโธ พุทโธ ต้องรู้อย่างนั้น เข้าใจกันแล้วหรือยัง เข้าใจให้ถึงนะ ถ้ามันเข้าใจ ถ้ามันถูกอารมณ์ ปุ๊ป รู้จักแล้วละก็ หยุดเลย ฟังเข้าใจนะ ถ้ามันโกรธขึ้นมาก็ว่า ฮึ พอแล้วระงับเลย ถ้ามันยังไม่เข้าใจ ก็ติดตามเข้าไปดู ถ้ามัน เข้าใจแล้ว เช่นว่าพ่อบ้านโกรธให้แม่บ้าน แม่บ้านโกรธให้พ่อบ้าน โกรธขึ้นมาในใจก็ร้อง ฮึ มันไม่เที่ยง

ธรรมะกับธรรมชาติ

บางครั้ง ต้นผลไม้ อย่างต้นมะม่วงเป็นดอกออกมาแล้ว บางทีถูกลมพัด มันก็หล่นลง แต่ยังเป็นดอกอย่างนั้นก็มี บางช่อเป็นลูกเล็กๆ ลมก็มาพัดไป หล่นทิ้งไปก็มี บางช่อยังไม่ได้เป็นลูก เป็นดอกเท่านั้น ก็หักไปก็มี 

คนเราก็เหมือนกัน บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้องบางคนคลอดจากท้องอยู่ได้สองวัน ตายไปก็มี หรืออายุเพียงเดือนสองเดือน สามเดือน ยังไม่ทันโต ตายไปก็มีบางคนพอเป็นหนุ่มเป็นสาวตายไปก็มี บางคนก็แก่เฒ่าแล้ว จึงตายก็มี 

เมื่อนึกถึงคนแล้ว ก็นึกถึงผลไม้ ก็เห็นความไม่แน่นอน แม้นักบวชเราก็เหมือนกัน บางทียังไม่ทันได้บวชเลย ยังเป็นเพียงผ้าขาวอยู่ ก็พาผ้าขาววิ่งหนีไปก็มีบางคนโกนผมเท่านั้น ยังไม่ได้บวชขาวด้วยซ้ำ ก็หนีไปก่อนแล้วก็มี บางคนก็อยู่ได้สามสี่เดือนก็หนีไป บางคนอยู่ถึงบวชเป็นเณรเป็นพระ ได้พรรษาสองพรรษาก็สึกไปก็มี หรือสี่ห้าพรรษาแล้วก็สึกไปก็มี เหมือนกับผลไม้เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ผลไม้ถูกลมพัดตกลงไปเลยไม่ได้สุก จิตใจคนเราก็เหมือนกัน พอถูกอารมณ์มาพัดไป ดึงไป ก็ตกไปเหมือนกับผลไม้ 

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นเหมือนกัน เห็นสภาพธรรมชาติของผลไม้ ใบไม้ แล้วก็นึกถึงสภาวะของพระเณรซึ่งเป็นบริษัท บริวารของท่านก็เหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ย่อมจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้ามีปัญญา พิจารณาดูอยู่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครูอาจารย์แนะนำพร่ำสอนมากมาย 

พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็นพระชนกกุมารนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆ มากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น 

แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน 

พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ 

เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก 

พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ ? 

พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวัลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช 

หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน ? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน ? พระองค์ก็ทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส 

นี้คือในสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอด อันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก 

ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร 

ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจังทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้ 

เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ 

ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา 

มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น 

ทุกสิ่งสารพัดนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจของเรานี้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป เมื่อแปรไปแล้ว ก็ดับสูญไปเท่านั้น นี้เรียกว่า "นามธรรม" สักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป นี่คือความจริงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น ล้วนเป็นอริยสัจจธรรมทั้งนั้น ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เราก็ไม่เห็น 

ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า 

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน ? 
พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม 

พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน ? 
พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า อยู่ตรงนี้แหละ 

พระสงฆ์อยู่ที่ตรงไหน ? 
พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ในใจของเราแต่เราต้องมองให้ชัดเจน บางคนเก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทานว่า "โอ ! พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน" แต่ปฏิปทานั้นไม่เหมาะไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่จะอุทานเช่นนั้น เพราะใจของผู้ที่อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจที่รู้ธรรมะ 

ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าความจริงในโลกนี้มีอยู่ นามธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นของไม่แน่นอน มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธก็แปรไป เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธก็สลายไป 

เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขนั้นก็ตั้งอยู่เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้ว ความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว ความสุขมันก็สลายไปหมด ก็ไม่มีอะไร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ทุกกาลเวลา ทั้งของภายในคือ นามรูปนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งของภายนอก คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์เหล่านี้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าสัจจธรรม 

ถ้าใครเห็นธรรมชาติก็เห็นธรรมะ ถ้าใครเห็นธรรมะก็เห็นธรรมชาติ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะผู้นั้นก็เป็นผู้รู้จักธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ไกล 

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน ผู้รู้ทั้งหลายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมา ให้รู้ ให้เห็นธรรมะตามเป็นจริงทุกกาลเวลา 

พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตายท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรมพระธรรมนั้นแหละเรียกว่า พระพุทธเจ้า และก็ธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเรา เป็นพระพุทธเจ้า 

ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว 

อันนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรม และการตรัสรู้ธรรมนี่เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า 

เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง "เจ้าชายสิทธัตถะ" ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น "พระพุทธเจ้า" บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ 

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่ ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดี พระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวันฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา 

ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่นความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น 

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้วเพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะทรงบอกไว้แล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้น โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้ว ยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น 

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมากเพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม ฉะนั้นก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่ 

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควรทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผลนิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า 

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรมได้ 

ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร ? ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง 

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร ? นั่นแหละ ! 
เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร ? นั่นแหละ ! 
เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร ? นั่นแหละ ! 

สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน 




กลับหน้าหลัก

ที่มา : http://archive.org/details/VenAjahnChah | บทสำหรับอ่าน | เสียงธรรมเทศนาต้นฉบับภาษาอิสาน