ทางพ้นทุกข์และมรรคสามัคคี |
วันนี้ ได้รับอนุญาตจากท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสให้แสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้งหลาย ที่มานั่งประชุมอยู่ ณ ที่นี้ดังนั้น ขอพุทธบริษัททั้งหลายจงตั้งใจให้อยู่ในความสงบ เพราะว่าการแสดงธรรมวันนี้ มีความจำเป็นเกี่ยวกับภาษา จะต้องตั้งใจฟังล่ามที่จะแปลไป มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ เมื่อได้มาพักอยู่ที่นี่ อาตมารู้สึกมีความสบายใจ เพราะว่าทั้งท่านอาจารย์ก็ดีทั้งสานุศิษย์ก็ดี ทำความพอใจ หน้ายิ้มแย้มแจ่มใสสมกับเป็นผู้ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอันแท้จริงเมื่อได้มาเห็นสถานที่ซึ่งท่านอยู่อาศัยก็เลื่อมใส แต่บ้านหลังใหญ่นี้ใหญ่เหลือเกิน คิดสงสารท่านเหมือนกันในการบูรณะสร้างที่อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป อาตมาเคยลำบากมาแล้ว เป็นอาจารย์มาหลายปี ตั้งต้นสอนจริงๆ จังๆมาประมาณเกือบ ๓๐ ปี ขณะนี้มีวัดสาขาน้อยใหญ่ที่ขึ้นต่อวัดหนองป่าพงประมาณ ๔๐ แห่งแล้ว แต่ก็รู้สึกว่ามีศิษย์สอนยากสอนลำบากเหลือเกิน บางคนก็รู้แล้วไม่เอาใจใส่ บางคนไม่รู้ก็ไม่เอาใจใส่ เดี๋ยวนี้ก็เลยคิดอะไรไม่ค่อยจะออก ไม่ทราบว่าทำไมจิตใจของมนุษย์จึงเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่รู้ก็ไม่ดี แต่บอกให้รู้แล้วก็ยังไม่รับเอา จะทำอย่างไรอีกต่อไปก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกัน เมื่อปฏิบัติไปก็มีแต่เรื่องสงสัยทั้งนั้นแหละสงสัย อยู่เรื่อยๆอยากจะไปแต่พระนิพพาน แต่ไม่เดินไปตามทาง อยากจะไปเฉยๆเท่านั้น มันวุ่น ให้นั่งสมาธิก็กลัว มีแต่ความง่วง ง่วงนอน สิ่งที่เราไม่สอนนั้นแหละชอบปฏิบัติ ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมท่านอาจารย์ จึงเรียนถามท่านว่า ลูกศิษย์ของท่านเป็นอย่างไร ท่านตอบว่าเหมือนกัน นี่ก็เป็นความยุ่งยากอันหนึ่ง เป็นปัญหาอันหนึ่งของครูบาอาจารย์ที่จะช่วยลูกศิษย์ ธรรมะที่จะกล่าวในวันนี้ เป็นธรรมะที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบัน ในเวลาที่เราเกิดมาในชาตินี้ ในวันนี้ เดี๋ยวนี้ พุทธบริษัทบางกลุ่ม ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เคยพูดว่า ฉันมีธุระมากเกี่ยวแก่การงาน ไม่มีโอกาสที่จะทำความเพียร จะให้ฉันทำอย่างไร อาตมาตอบว่า โยมทำงานนั้นโยมหายใจหรือเปล่า เขาตอบว่าหายใจอยู่ ทำไมโยมมีโอกาสหายใจ เมื่อโยมทำงานอยู่เขาก็ไม่พูด โยมมีสติอยู่เท่านั้นแหละ ก็มีเวลามากเหลือเกินที่จะทำความเพียร ที่จะทำกรรมฐานเหมือนกับลมหายใจเข้าออก เราทำงานอยู่ก็หายใจอยู่ นอนอยู่ก็หายใจอยู่ นั่งก็หายใจอยู่ ทำไมมันมีโอกาสหายใจอย่างนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกถึงความมีชีวิตของเรากับลมหายใจนั้น มันก็ต้องมีเวลาอยู่ตลอดกาล ใครเคยมีความทุกข์ไหม ใครเคยมีความสุขไหม คิดดูซิเคยมีไหม นั่นแหละที่ธรรมะเกิดที่ตรงนี้ ที่ปฏิบัติธรรมะก็อยู่ที่ตรงนี้ ใครเป็นสุข ใจมันเป็นสุข ใครเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์ มันเกิดที่ไหน มันดับที่นั่น กายและใจสองอย่างนี้ รวมมีเอามาแล้วทุกคน ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักปฏิบัติ หลักปฏิบัติมีอยู่แล้ว มีกายมีใจ เท่านั้นพอแล้ว ทุกคนที่นั่งรวมกันอยู่นี้ เคยมีความสุขไหมเคยมีความทุกข์ไหม ทำไมเป็นอย่างนั้น มันเป็นเพราะอะไร นี้คือปัญหาแล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาล่ะ ถ้าเรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็แก้ปัญหาได้ นี้คือทุกข์ ทุกข์ธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกข์ที่เหนือธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกข์ประจำสังขารนี้ ยืนก็เป็นทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นทุกข์ธรรมดา ทุกข์ประจำสังขาร พระพุทธเจ้าท่านก็มีเวทนาอย่างนี้ มีสุขอย่างนี้ มีทุกข์อย่างนี้ แต่ท่านก็รู้จักว่าอันนี้เป็นธรรมดา สุขทุกข์ธรรมดาทั้งหลายเหล่านี้ ท่านระงับมันได้ เพราะท่านรู้จักเรื่องของมัน รู้จักทุกข์ธรรมดา มันเป็นของมันอย่างนั้น ไม่รุนแรง ท่านให้ระวังทุกข์ที่มันจรมา ทุกข์ที่เหลือธรรมดา เปรียบประหนึ่งว่าเราเป็นไข้ เอายาไปฉีด ฉีดเข้าไปในร่างกาย เข็มฉีดยานั้นมันทะลุเข้าไปในเนื้อหนัง เรารู้สึกเจ็บนิดหน่อยเป็นธรรมดา เมื่อถอนเข็มออกมาแล้ว ความเจ็บก็หาย นี่เรียกว่าทุกข์ธรรมดา ไม่เป็นอะไร ทุกคนจะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกข์ที่ไม่ใช่ธรรมดานั้น คือทุกข์ที่เรียกว่า อุปาทาน เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไว้ เปรียบประหนึ่งว่าเอาเข็มฉีดยาไปอาบ ยาพิษ แล้วก็ฉีดเข้าไปนี่ไม่ใช่เจ็บธรรมดาแล้ว ไม่ใช่ทุกข์ธรรมดาแล้ว เจ็บ จนตาย ทุกข์จนตาย นี่เรียกว่าทุกข์เกิดจากอุปาทาน ความเห็นผิด นี่ก็เป็นปัญหาอันหนึ่ง ไม่รู้จักอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงของสังขาร สังขารมันเป็นวัฏฏสงสาร สังสาเรทุกขัง ทุกข์ในสงสารมันเปลี่ยน เราไม่อยากให้มันเปลี่ยน เราคิดผิดมันก็ทุกข์ คิดถูกมันก็ไม่ทุกข์คนเกิดขึ้นมาแล้วไม่เห็นสังขารอันนั้น เห็นสังขารว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา ไม่อยากให้สังขารเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆก็หมายความว่า เราหายใจเข้าออก ออกไปแล้วก็เข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราจึงมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราให้มันออกไป ไม่ให้มันเข้ามา มันก็อยู่ไม่ได้ มัน ไม่ใช่เรื่องเช่นนั้นเรื่องของสังขารมันเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่รู้จัก เช่นว่ามีสิ่งของแล้วมันหายไป ไม่อยากให้มันหาย คิดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ไม่เห็นตามสังขารที่มันหมุนเวียนอยู่ตามธรรมชาตินั้น มันก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา ไม่เชื่อก็ลองดูซิ หายใจออกหายใจเข้า มันสบายอยู่ได้ ถ้าหายใจออกแล้วไม่เข้า หรือหายใจเข้าแล้วไม่ออกจะอยู่ได้ไหม สังขารมันเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นเราเห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้น เห็นตามธรรมะ เห็นเรื่องอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง เราอยู่ด้วยอนิจจัง อยู่ด้วยความเปลี่ยน แปลงอย่างนี้ รู้ว่า มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็ปล่อย เรียกว่าการปฏิบัติธรรมให้มีปัญญารู้ตาม สังขารอย่างนั้น ทุกข์ก็ไม่เกิด ถ้าคิดเช่นนั้นมันก็ขัดต่อความรู้สึกของเรา ขัดต่อความรู้สึกก็ขัดต่อธรรมะความเป็นจริงของมันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราป่วยเข้าโรงพยาบาล คิดในใจไม่อยากตาย อยากหายเท่านั้น คิดอย่างนั้นไม่ถูก เป็นทุกข์ ต้องคิดว่า หายก็หาย ตายก็ตาย เพราะเราแต่งไม่ได้ นี่เป็นสังขาร คิดอย่างนี้ถูก ตายก็สบาย หายก็สบายต้องได้อย่างหนึ่ง จนได้เราคิดว่าจะต้องหาย จะต้องไม่ตาย อย่างนี้มันเรื่องจิตของเราไม่รู้จักสังขาร ฉะนั้นเราก็ต้องคิดให้มันถูก ว่าหายก็เอา ไม่หายก็เอา ตายก็เอา เป็นก็เอา ถูกทั้งสองอย่างสบายไม่ตกใจ ไม่ร้องไห้ ไม่โศกเศร้า เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงมองเห็นชัด ธรรมะของท่านยังใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้าสมัย ไม่เปลี่ยนแปลงที่ไหนทุกวันนี้ยังมีความจริงอยู่ ยังไม่เสื่อม ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ไปที่ไหน ถ้าใครจะรับพิจารณาอย่างนั้น จะได้เกิดความสงบความสบาย ท่านให้อุบายว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เราฟังไม่ได้ ไม่อยากฟัง เพราะเราเข้าใจว่า นี่เป็นตัวเรา เป็นของเรานี่แหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดตรงนี้ ให้เราเข้าใจอย่างนี้ เมื่อกลางวันนี้ มีโยมคนหนึ่งมาถามปัญหาว่า เมื่อมันมีความโกรธขึ้นมา จะให้ดิฉันทำอย่างไร อาตมาบอก ว่า เมื่อมันโกรธขึ้นให้เอานาฬิกามาหมุนตั้งไว้ บอกนั่นได้สองชั่วโมงให้โกรธมันหายนะ ลองดู ถ้ามันเป็นเราบอกได้สองชั่วโมงก็หายโกรธ แต่อันนี้ไม่ใช่เรา สองชั่วโมงมันก็ยังไม่หาย บางทีหนึ่งชั่วโมงมันก็หายแล้ว จะไปเอาโกรธมาเป็นเรามันก็ทุกข์ซิ นี่ถ้าเป็นตัวเรา มันต้องได้ตามปรารถนาอย่างนั้น ถ้าไม่ได้ตามปรารถนาก็เป็นเรื่องโกหก เราอย่าไปเชื่อมันเลย มันจะดีใจก็อย่าไปเชื่อมัน จะเสียใจก็อย่าไปเชื่อ มันจะรักอย่าไปเชื่อมัน มันจะเกลียดก็อย่าไปเชื่อมันมันเรื่องโกหกทั้งนั้น ให้คำตอบเขาอย่างนี้ ใครเคยโกรธไหม เมื่อโกรธขึ้นมามันเป็นสุขหรือทุกข์ไหมถ้าเป็นทุกข์ทำไมไม่ทิ้งมัน เอาไว้ทำไม นี่จะเข้าใจว่าเรารู้อย่างไรเล่า จะเข้าใจว่าเราฉลาดอย่างไรเล่า ตั้งแต่เราเกิดมานี้ มันโกรธเรากี่หนมาแล้ว บางวันมันทำให้ครอบครัวเราทะเลาะกันก็ได้ร้องไห้ทั้งคืน ก็ได้ ขนาดนั้นก็ยังเกิดความโกรธอีก ยังเก็บมันเอาไว้ในใจอีก ทุกข์อีกอยู่ตลอดเวลา ตลอดถึงบัดนี้ ตั้งแต่นี้ต่อไปถ้าโยมทุกคนไม่เห็นทุกข์ มันก็จะทุกข์เรื่อยๆไป ถ้าเห็นทุกข์วันนี้เอามันทิ้งเสีย เอามันทิ้ง ถ้าไม่ทิ้งมัน มันจะให้เราทุกข์จนตลอดวันตาย ไม่ได้หยุด วัฏฏสงสารก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทุกข์อย่างนี้ ก็แก้ปัญหาได้เท่านั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านว่าไม่มีอุบายอะไรที่จะดีไปกว่านี้ อุบายที่จะไม่มีทุกข์ ก็เห็นว่าอันนี้ไม่ใช่ตัวอันนี้ไม่ใช่ของตัวเท่านี้ อันนี้เลิศแล้ว อันนี้ประเสริฐแล้ว แต่เราไม่ค่อยได้รับฟัง เมื่อทุกข์ทุกทีก็ร้องไห้ทุกที ยังไม่จำอีกนี่ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ดูนานๆ ท่านอาจารย์สอนให้ดู ให้ภาวนาพุทโธ ให้เห็นชัด ระวังบางคนจะไม่รู้ว่าธรรมะนะ นี่คือธรรมะนอกคัมภีร์คนเราไปอ่านแต่คัมภีร์แล้วไม่เห็นธรรมะ วันนี้อธิบายธรรมะนอกคัมภีร์แต่อยู่ในขอบเขต บางคนฟังแล้วจะไม่รู้เรื่อง จะไม่เข้าใจในธรรมะ ถ้าเราไม่เข้าใจในธรรมะ เราจะมีความทุกข์ตลอดไปสังขารมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เรื่องธรรมดาอย่างนี้ยกตัวอย่างให้ฟังอีกสักเรื่องหนึ่ง คนสองคน เช่นคนนี้กับคนนี้เดินไปด้วยกัน เห็นเป็ดตัวหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง คนหนึ่งว่า แหมไก่ทำไมไม่เหมือนเป็ด เป็ดทำไมไม่เหมือนไก่ คิดอยากจะให้ไก่เป็นเป็ด คิดอยากจะให้เป็ดเป็นไก่ มันก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ โยมก็คิดว่า แหม อัศจรรย์เหลือเกิน ทำไมไก่ไม่เป็นเป็ดอยากจะให้เป็ดเป็นไก่อยู่ตลอดเวลา ในชั่วชีวิตหนึ่งๆมันก็ไม่เป็นให้ เพราะเป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่ ถ้าคนนี้คิดอย่างนี้ไม่หยุดก็ต้องทุกข์ คนที่สองเห็นว่า เป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่นั่นแหละแล้วก็เดินผ่านไป ปัญหาไม่มี เห็นถูกแล้วที่เป็นเป็ดให้เป็นเป็ดไปเป็นไก่ก็ให้เป็นไก่ไปเสีย คนที่อยากให้เป็ดเป็นไก่ อยากให้ไก่เป็นเป็ดอยู่นั่นแหละ ก็เป็นทุกข์มาก อย่างนี้ก็เหมือนกับอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อยากจะให้มันเที่ยง มันก็ไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร ก็เสียใจเมื่อนั้น ถ้าใครเห็นว่า อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น คนนั้นก็สบายไม่มีปัญหา คนอยากให้มันเที่ยงก็มีปัญหาเป็นทุกข์เป็นร้อนบางทีนอนไม่หลับ อย่างนี้ก็เป็นได้ นี้เรียกว่าไม่รู้เรื่องของอนิจจัง ตามความจริง เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เมื่ออยากรู้ธรรมะจะไปดูที่ไหนได้ ดูอยู่ที่กายของเรานี้แหละ ดูอยู่ที่ใจของเรานี้แหละ ไปดูในตู้ไม่พบ ไม่เห็น จะรู้ธรรมะอย่างแท้จริง ต้องดูในกายของเรา นี้เรียกว่า รูปธรรม รู้เข้าไปอีกชนิ ดหนึ่งไม่มีรูป มีปรากฏอยู่คือ นามธรรม มีสองอย่างเท่านั้นรูปธรรมมองเห็นด้วยตาของเราที่นั่งอยู่นี่ แต่นามธรรมมองไม่เห็น นามธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะมองดูด้วย ตาเนื้อได้ ต้องมองดูด้วยตาใน คือตาใจ มองดูในใจถึงจะเห็นนามธรรม คนจะบรรลุธรรมะ จะได้เห็นธรรมะต้องรู้จักว่า ธรรมะอยู่ตรงไหนเสียก่อน ถ้าธรรมะอยู่ที่กาย ก็ต้องมาดูที่กายของเรา ดูตั้งแต่นี้ลงไป เอาอะไรมาตรวจดูตรงนี้ เอานามธรรมคิดตัววิญญาณธาตุดูกายนี้ ไปดูที่อื่นไม่พบ เพราะความสุข ความทุกข์เกิดจากที่นี่ หรือใครเห็นความสุขเกิดจากต้นไม้ มีไหม เกิดจากแม่น้ำ มีไหม เกิดจากดินฟ้า อากาศ มีไหม ความสุข ความทุกข์ เป็นความรู้สึกทางกายทางใจของเรานี่เอง ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านให้รู้จักธรรมะ ให้มาดูธรรมะที่กายของเรานี้ คือธรรมะอยู่ที่นี่ จงมาดูที่นี่ อย่างท่านอาจารย์ท่านสอนนี้ ท่านให้มาดูที่ตัวธรรมะ แต่เราเข้าใจว่าตัวธรรมะอยู่ที่หนังสือจึงไม่เจอ ถ้าดูหนังสือก็ต้องน้อมเข้ามาในนี้อีกจึงจะรู้จักธรรมะ อย่างนี้ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจนี้ ให้เอาใจนี้พิจารณากาย นี้เป็นหลักการพิจารณา ฉะนั้น จึงทำปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตของเรา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว จะมองไปที่ไหนจะมีแต่ธรรมะทั้งนั้นเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา อนิจจังเป็นของไม่เที่ยงทุกขังถ้าไปยึดว่ามันเที่ยง ก็เป็นทุกข์ เพราะอันนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็น กลับเห็นว่าเป็นตัวเป็นอยู่เสมอเห็นว่าเป็นของของตนอยู่ทุกเวลา คือเราไม่เห็นสมมุติ รู้จักสมมุติกันเสียเถิด เช่นเราทุกคนที่นั่งในที่นี้มีชื่อทุกคน ชื่อเรานี้เราตั้งใหม่หรือมันเกิดพร้อมกันกับเรา หรือมีชื่อติดตามมาตั้งแต่วันเกิดเข้าใจไหม นี้สมมุติ สมมุติประโยชน์ไหม มีประโยชน์เช่น สมมุติว่าชื่อ นาย ก นาย ข นาย ค นาย ง มันก็เป็นคนด้วยกันทั้งหมด ต้องเอาชื่อคนมาใส่เป็นให้สะดวก แก่การพูด สะดวกแก่การงานเท่านั้นแหละ เช่น เราต้องการใช้นาย ก ก็เรียกนาย กนาย ก ก็มา นาย ข นาย ค นาย ง เฉยเสียไม่ต้องมา สมมุติมันสะดวกเท่านี้ ถ้าไม่มีสมมุติ เราจะเรียกคนมาใช้สักหนึ่งคน ถ้าเรียกว่าคนๆ คนๆทั้งหมดก็จะลุกขึ้นมา ก็ใช้ไม่ได้จะทำอย่างไรฉะนั้นสมมุติจึงมีประโยชน์ คือสะดวกแก่การใช้เท่านั้น เมื่อตามดูเข้าไปแล้วที่จริงไม่มีใครทั้งนั้น มันเป็นวิมุติ มีดินมีน้ำ มีไฟ มีลม เท่านั้นแหละ ที่เป็นสกลร่างกายของเรานี้ แต่เรามองไม่ค่อยจะเห็น เพราะมีอุปาทาน อัตตาอุปาทาน มันไม่เห็น ถ้าเราเห็นชัดจะเห็นว่าตัวของคนๆ หนึ่งไม่มีอะไรมาก ส่วนที่มันเคลื่อนแข็งก็เป็นดิน ส่วนที่เหลวก็เป็นน้ำ ส่วนที่ร้อนก็เป็นไฟ ส่วนที่พัดไปมาก็เป็นลม มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม ผสมกันเข้าไปเป็นก้อนก็เรียกว่ามนุษย์ เมื่อมันแยกกันออกไปอีก ส่วนดินที่เป็นดินไป ส่วนน้ำก็เป็นน้ำไป ส่วนไฟก็เป็นไฟไป ส่วนลมก็เป็นลมไป เป็นคนที่ไหนคนไม่มีเลย มันเป็นอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการที่เราเข้าใจว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นของสมมุติอันนั้นไม่ใช่ของข องเราแต่เป็นของสมมุติ ถ้าเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายแจ่มแจ้งเป็นธรรมะแล้ว ก็จะสบายใจ ถ้าเรารู้ในปัจจุบันอย่างนี้ว่ามันไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่ใช่เรา อันนั้นก็ไม่ใช่ของเรา ให้เห็นอยู่อย่างนี้ ถ้าอันนี้วิบัติเมื่อไรก็สบายใจเหมือนกัน ถ้าอันนั้นจะวิบัติไป แยกกันไปเมื่อไร ใจก็สบาย เพราะไม่มีของใคร เป็นแต่ดินน้ำ ไฟ ลม เท่านั้น แต่คนเราจะเห็นตามได้ยาก แต่ถึงจะยากก็ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ หากเราเห็นเช่นนั้นได้ก็สบายใจ ใจจะไม่ค่อ ยโกรธ ไม่ มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง จะมีธรรมะอยู่สม่ำเสมอ ไม่ต้องอิจฉาพยาบาทกัน เพราะต่างก็เป็นดิน เป็นน้ำเป็นไฟ เป็นลมเหมือนกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อยอมรับว่าเป็นจริงอย่างนั้น ก็เห็นจริงในธรรมะ เมื่อเห็นจริงในธรรมะแล้วก็ไม่ต้องเปลืองครูบาอาจารย์ ไม่ต้องสอนกันทุกวันหรอก เมื่อรู้แล้วก็จะทำตามหน้าที่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ที่เราสอนยากลำบาก คือมันไม่ยอมรับ ยังเถียงครูบาอาจารย์อยู่ ยังเถียงพระธรรมวินัยอยู่ถ้าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ก็ ทำดีเสียหน่อยหนึ่ง เมื่อลับหลังครูบา-อาจารย์ ก็เป็นขโมยเสีย เป็นเรื่อง ที่สอนยากอย่างนี้ โยมเมืองไทยเป็นอย่างนั้น จึงต้องเปลืองครูบาอาจารย์ มาก ระวังนะ ระวังไม่ดีไม่เห็นธรรมะนะ ต้องระวังให้ดี ต้องนำไปพิจารณาให้เกิดปัญญา ดอกไม้นี้สวยไหม ดูซิ เห็นสิ่งที่ไม่สวยในนี้หรือเปล่า เห็นสิ่งที่ไม่สวยในสิ่งที่สวยหรือเปล่า มันจะสวยไปกี่วัน ต่อไปมันจะเป็นอย่างไร ทำไมมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้นอีก ๓-๔ วัน ก็ให้เอาไปทิ้งใช่ไหม เพราะหมดความสวย มันไม่สวยเสียแล้ว นี่คือคนติดความสวย ติดความดี ถ้ามีความดีก็ดี ดี ดี พระพุทธองค์ของเราท่านตรัสว่า สวยก็พึงว่าสวยเฉยๆอย่าไปติดมัน ถ้ามีความดีใจก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมันเลย ที่ว่าดีนี้ก็ไม่แน่สวยนี้ก็ไม่แน่ ไม่แน่สักอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรจะแน่นอนในโลกนี้ นี่คือความจริงของที่ไม่จริง คือสวยไม่จริง มันจริงแต่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงของมันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ถ้าเราเห็นว่ามันสวยๆอย่างนี้ เมื่อหมดความสวยไปใจเราก็ไม่สวย ถ้ามันหมดความดีแล้วใจเราก็ไม่ดีด้วย เราเอาใจไปฝากกับวัตถุต่างๆอย่างนี้ หากว่ามันเสียหายไปเราก็ทุกข์ เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้เป็นของเรา พระพุทธเจ้าท่านให้รู้จักว่า มันเป็นธรรมชาติของมันเท่านั้น สวย เกิดขึ้นมาอีกไม่กี่วันก็หายแล้ว อย่างนี้ปัญญาก็เกิดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงให้เห็นอนิจจัง เห็นว่ามันสวยก็ว่าไม่ใช่เห็นว่าไม่สวยก็ว่าไม่ใช่ เห็นว่าดีก็ไม่ใช่ ให้เห็นไว้อย่างนี้ ดูอยู่เสมออย่างนี้ จะเห็นความจริงในสิ่งที่ไม่จริง จะเห็นความไม่เปลี่ยนแปลงในสิ่ง ที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น วันนี้อธิบายให้รู้จักทุกข์ สิ่งที่ให้เกิดทุกข์ สิ่งที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สี่อย่างนี้ รู้จักทุกข์เมื่อทุกข์แล้วก็ทิ้งรู้จักเหตุที่จะให้ทุกข์เกิดแล้วก็ทิ้ง ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน ทุกข์แล้วก็ดับมันดับแล้วจะไปอยู่ที่ไหน เราปฏิบัติแล้วจะเอาอะไร ปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา อย่างโยมที่ถามเมื่อกลางวันนี้ว่าเป็นทุกข์ อาตมาถามว่าโยมอยากเป็นอะไร ตอบว่าอยากตรัสรู้ธรรมอยากตรัสรู้ธรรมมันไม่ได้ตรัสดอก อย่าให้มันอยากเลย อาตมาบอกไปจะรู้หรือไม่ก็ตามเถอะ เมื่อรู้จักทุกข์ตามความจริงมันก็ทิ้งทุกข์ รู้จักเหตุให้ทุกข์เกิด ที่ไหนทุกข์จะเกิด ก็ไม่ทำมันจะปฏิบัติมันก็ดับทุกข์ ที่ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อันนี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่เราใช่เขา เห็นเช่นนี้ทุกข์ก็ดับ เหมือนคนเดินทางไปเดินไป ไปถึงแล้วก็หยุดอยู่ มันดับ นั่นใกล้ต่อพระนิพพานง่ายๆ เดินไปก็เป็นทุกข์ ถอยกลับก็เป็นทุกข์ หยุดอยู่ก็เป็นทุกข์ เดินไปก็ไม่เดิน ถอยกลับก็ไม่ถอย หยุดอยู่ก็ไม่หยุด มีอะไรเหลือไหมดับ รูปมันดับนามมันก็ดับ นี้เรียกว่าดับทุกข์ฟังยากสักหน่อยนะถ้าหากเราภาวนาพิจารณาเรื่อยๆ มันจะพ้นขึ้นมาแล้วจะรู้จักมันจะดับของมันอย่างนั้น ที่สุดคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น หมดล่ะ ไม่เป็นอะไร ละหมด พระพุทธเจ้าสอนจบตรง นี้ละหมด จบลงที่นี่ วันนี้อธิบายธรรมะให้ญาติโยม และถวายท่านอาจารย์ ถ้าหากว่าผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันผิด มันถูก ฟังไว้ก่อน ให้รู้จักผิด รู้จักถูก ถ้าเหมือนกับ เอาผลไม้ชนิดหนึ่งถวายท่านอาจารย์ และฝากญาติโยมทุกๆคนอาตมาบอกว่า ผลไม้นี้มันหวานนะ ก็ขอให้ฟังไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันหวานล่ะ เพราะเมื่อไม่รู้จักรสผลไม้ที่มันเปรี้ยวเอามือจับมันก็ไม่รู้เปรี้ยว ผลไม้นี้มันหวานถวายให้จับดู มันก็ไม่รู้หวาน ฉะนั้นที่เทศน์ให้ฟังวันนี้ อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าอยากจะรู้จักรสเปรี้ยวหวาน ของผลไม้ ก็ต้องเอามีดไปเฉือนแล้วเคี้ยวดูในปากนั่นแหละหากมันเปรี้ยวก็จะรู้สึกเปรี้ยว หากมันหวานก็จะรู้สึกหวาน ทีนี้เชื่อได้แล้ว เพราะเหตุใดจึงเชื่อ เพราะว่าเป็นปัจจัตตังแล้วมีพยานตัวเราจะเป็นพยานของตัวเราแน่นอนแล้วทีนี้ ฉะนั้น ผลไม้ที่อาตมาฝากให้วันนี้ อย่าเพิ่งเอาไปทิ้ง เก็บไว้ทาน ให้รู้รสเปรี้ยวหวานเสียก่อน จนเป็นสิขีภูโต ตัวเราเป็นพยานของเราแล้วแน่นอน พระพุทธเจ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ อาชีวกไปถามท่านว่าใครเป็นครูเป็นอาจารย์ของท่าน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เราไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อาชีวก ก็ สบัดหน้าไปเลย คือบอกความจริงเกินไป บอกความจริงกับคน ไม่รู้จักความจริง ไม่เชื่อ ไม่รู้จักฟัง ไม่รู้จักเอา ฉะนั้น วันนี้อาตมาถึงบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งไปเชื่อ คนไปเชื่อคนอื่นเขาท่านว่าคนโง่ เพราะไม่มีพยานในตัวของเรา ดังนั้น ให้ยึดพยานใจตัวของเราอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเลยว่า พระพุทธองค์ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อย่างนี้เป็นความจริง แต่เราคิดให้ถูกนะ ถ้าคิดไม่ถูกแล้ว ไม่เคารพอาจารย์นะ ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อย่าไปว่านะ ถ้าครูอาจารย์สอนถูกมาแล้ว เรารู้จักปฏิบัติ เห็นถูกเห็นผิด รู้ขึ้นมาตามครูบาอาจารย์ วันนี้พวกเราทั้งหลาย มีโชคดี อาตมามีโอกาสรู้จักญาติโยมทุกๆคน และได้พบกับท่านอาจารย์ ไม่น่าจะมาเห็นกันนะ เพราะอยู่ไกลกันมาก วันนี้อาตมาเห็นว่าจะต้องมีเหตุปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า อะไรที่จะเกิดขึ้นมา จะต้องมีเหตุอย่างนี้อย่าลืมนะจะต้องมีเหตุอันหนึ่ง บางทีสมัยก่อนอดีตชาติ อาตมาได้มาเป็นพี่ๆน้องๆ ของญาติโยมแถวๆนี้ก็เป็นได้ ถ้าพูดถึงเหตุมันเป็นอย่างนั้น คนอื่นไม่ได้มา แต่อาตมาได้ มาทำไม หรือว่าจะมาสร้างเหตุเดี๋ยวนี้ก็ได้ ฉะนั้นจึงฝากธรรมไว้ให้ญาติพี่น้องทั้งหลายคนแก่ก็เป็นพ่อเป็นแม่ คนมีอายุเสมอๆกันก็เป็นเพื่อน คนอายุน้อยๆก็เป็นลูกหลานทุกๆคน ขอฝากความอาลัยไว้ ณ ที่นี้ ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้ขยันขันแข็ง หมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่มีอะไรแล้วจะยิ่งกว่าธรรมะ ธรรมะนี้เป็นเครื่องที่ค้ำจุนโลกเหลือเกิน ทุกวันนี้เราจะไม่สบาย กระสับกระส่ายก็เพราะไม่มีธรรมะ ถ้าเรามีธรรมะก็จะสบาย อาตมาก็ดีใจที่ได้ช่วยท่านอาจารย์และช่วยญาติโยมด้วย จึงขอฝากความอาลัยไว้ บางทีพรุ่งนี้คงได้จากไป ไปที่ไหนก็ยังไม่ทราบ อย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา มาแล้วก็ต้องไป ไปแล้วก็ต้องมา มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ไม่ควร ดีใจและไม่ควรเสียใจ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ได้แล้วก็เสียไป เสียไปแล้วก็ได้มาเป็นเรื่องธรรมดา ญาติโยมจงเข้าอยู่ในธรรมะจะไม่มีความเดือด ร้อน ทุกๆคน ผลที่สุดนี้ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเป็นคนมีโชคดี โชคอย่างใหญ่หลวงคือ โชครู้จักธรรมะ นั่นแหละเป็นโชคดีที่สุดแล้ว ในวาระสุดท้าย ญาติโยมทุกคนมีความสงสัยอะไรในใจให้ถามปัญหาได้ มีไหมล่ะ สมัยก่อนครั้งพุทธกาล เรื่องสาวกไม่ชอบพระพุทธเจ้าก็มี เพราะพระพุทธเจ้าบอกให้ขยัน ไม่ให้ประมาทสาวกที่ขี้เกียจกลัวละเกลียด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้า ปริ นิพพานสาวกกลุ่มหนึ่งร้องไห้ว่า พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพาน แล้วจะไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์สอนเรา สาวกกลุ่มนี้ก็โง่ สาวกอีกกลุ่มหนึ่งยกมือสาธุ พระพุทธเจ้าตาย แล้วเราสบาย ไม่มีใครบังคับเรา กลุ่มที่สาม เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วก็สบายใจ ปล่อยสลดสังเวชในสังขาร นี่ มีกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสอง กลุ่มสาม เราจะเอากลุ่มไหนล่ะ จะเอากลุ่มสาธุหรือจะเอากลุ่มไหน กลุ่มหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ ปริ นิพพานแล้วก็ร้องไห้ นี่คือคนที่ไม่ถึงธรรมะ กลุ่มที่สองนั่นเกลียดไปทำอันนี้ก็ไม่ได้ ทำอันนั้นก็ไม่ได้ผิดทั้งนั้น กลัวท่านจะดุเอา กลัว ท่านจะว่าเอา เมื่อท่านปรินิพพานแล้วสบายใจ ทุกวันนี้เช่นกันบางทีท่านอาจารย์อาจจะมีลูกศิษย์เกลียดเหมือนกันละนะ เกลียดอยู่ในใจ อดไว้ คนมีกิเลสก็ต้องเป็นทุกคนแม้แต่พระพุทธองค์ยังมีสาวกรังเกียจอาตมามีลูกศิษย์รังเกียจเหมือนกัน ไปบอกให้เขาทิ้งความชั่ว เขาเสียดายความชั่ว เขาก็เกลียด เรา อย่างนี้ก็มีเยอะ ฉะนั้นปัญญาชนทั้งหลาย ให้พากันตั้งอยู่ในธรรมะให้แน่นหนา เอาล่ะ มรรคสามัคคี วันนี้อยากจะถามถึงการปฏิบัติของญาติโยมเราทั้งหลายว่า ที่ได้ทำมานี้แน่ใจแล้วหรือยัง แน่ใจในการทำกรรมฐานของตนแล้วหรือยัง ที่ถามอย่างนี้เพราะว่าอาจารย์ที่สอนกรรมฐานทุกวันนี้มีมาก มีทั้งพระสงฆ์ทั้งฆราวาสจึงกลัวว่าญาติโยมจะลังเลสงสัยการกระทำนี้ จึงได้ถามอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเราก็จะสามารถทำจิตใจของเราให้สงบได้มั่นคง แล้วให้เข้าใจด้วยว่ามรรค ๘ ประการนั้น มันรวมอยู่ที่ศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้รวมอยู่ที่อื่น เมื่อเรารวมเข้ามาแล้วมันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเช่นเราทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็คือ เราทำมรรคให้เกิดขึ้นมานั่นเองไม่ใช่อื่นไกล วิธีการนั่งท่านให้นั่งหลับตาไม่ให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็เพราะว่า ท่านจะให้ดูจิตของเรา เมื่อหากเราหลับตาเข้าไปแล้วมันจะกลับเข้ามาข้างใน เมื่อเรานั่งหลับตาให้ยกความรู้ขึ้นเฉพาะลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธานน้อมความรู้สึกตามลมหายใจ เราจึงจะรู้ว่าสติมันจะรวมอยู่ตรงนี้ ความรู้จะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกจะมารวมอยู่ตรงนี้ เมื่อมรรคนี้มันสามัคคีกันเมื่อใด เราจะได้มองเห็นว่าลมเราเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ อารมณ์เราเป็นอย่างนี้เราจึงจะรู้จักที่รวมแห่งสมาธิที่รวมแห่งมรรคสามัคคีในที่เดียวกัน เมื่อเราทำสมาธิกำหนดจิตลงกับลมนึกในใจว่า ที่นี่เรานั่งอยู่คนเดียวรอบๆ ข้างเรานี้ไม่มีใคร ไม่มีอะไรทั้งนั้นแหละ ทำความรู้สึกอย่างนี้ เรานั่งอยู่คนเดียวให้กำหนดอย่างนี้จนกว่าจิตของเรามันจะวางข้างนอกหมด ดูลมเข้าออกอย่างเดียวเท่านั้น มันจะวางข้างนอกจะมีใครหรือไม่ หรือว่าคนนี้นั่งตรงโน้นคนนั้นนั่งตรงนี้อะไรวุ่นวายมันจะไม่เข้ามา เราเหวี่ยงมันออกไปเสียว่าไม่มีใครอยู่ที่นี้มีแต่เราคนเดียว นั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะทำสัญญาอย่างนี้ให้มันหมดไป จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในรอบๆ ข้างเรานี้ เราก็กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เราปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติอย่าไปบังคับลมให้มันยาว อย่าไปบังคับลมให้มันสั้น อย่าไปบังคับลมให้มันแรง อย่าไปบังคับลมให้มันอ่อน ปล่อยสภาพให้มันพอดีแล้วนั่งดูลมหายใจเข้าออก เมื่อมันปล่อยอารมณ์เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญไม่รำคาญสักอย่าง ข้างนอกจะเป็นรูปเป็นเสียงไม่รำคาญทั้งนั้น เพราะว่ามันไม่รับเอามันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้ ถ้าจิตของเราวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ ไม่ยอมรวมเข้ามาก็ต้องสูดลมเข้าให้มากที่สุดจนกว่าจะไม่มีที่เก็บ แล้วก็ปล่อยลมออกให้มากที่สุดจนกว่าจะหมดในท้องเราสัก ๓ ครั้ง แล้วตั้งความรู้ใหม่แล้วสูดลมต่อไปอีกแล้วตั้งขึ้นใหม่ พักหนึ่งมันก็สงบไปเป็นธรรมดาของมัน สงบไปอีกสักพักหนึ่งมันก็ไม่สงบอีกอย่างนี้ก็มีวุ่นวายขึ้นมาอีก เมื่อมันเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็กำหนดจิตของเราให้ตั้งมั่นสูดลมหายใจเข้ามาหายใจ เอาลมในท้องเราออกให้หมดแล้วก็สูดเอาลมเข้ามาให้มากพักหนึ่ง แล้วก็ตั้งใหม่อีกกำหนดลมนั้นต่อไปอีกทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมันเกิดอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้เรื่อยไป แล้วก็กลับมาตั้งสติกับลมหายใจเข้าออก ทำความรู้สึกต่อไปอีกอย่างนี้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้หลายครั้งได้ความชำนาญ มันจะวางข้างนอกมันจะไม่มีอะไรอารมณ์ข้างนอกก็ส่งเข้ามาไม่ถึง สติตั้งมั่นดูลมเข้าออกต่อไปอีก ถ้าจิตสงบลมนี้จะน้อยเข้าน้อยเข้าทุกที มันน้อยเข้าไปอารมณ์มันละเอียด ร่างกายเราก็จะเบาขึ้น มันก็วางอารมณ์ข้างนอกดูข้างในต่อไป ต่อนั้นไปเราก็รู้ข้างนอกมันจะรวมเข้าข้างใน เมื่อรวมเข้าข้างในแล้วความรู้สึกอยู่ในที่ๆ มันรวมกันอยู่ในลมหายใจนั้นมันจะเห็นลมชัด เห็นลมออกลมเข้าชัดแล้วมันจะมีสติชัดเห็นอารมณ์ชัดขึ้น ทุกอย่างจะเห็นศีลเห็นสมาธิเห็นปัญญาโดยอาการมันรวมกันอยู่นี้เรียกว่า "มรรคสามัคคี" เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีอาการวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตของเรา มันจะรวมลงเป็นหนึ่งนี้เรียกว่า "สมาธิ" นานไปสูดลมหายใจเข้าไปอีกจนกว่าลมจะละเอียดเข้าไปอีก แล้วความรู้สึกนั้นมันจะหมดไปหมดไปจากลมหายใจก็ได้ มันจะมีความรู้สึกอันหนึ่งมา ลมหายใจมันจะหายไป คือมันละเอียดอย่างยิ่งจนบางทีเรานั่งอยู่เฉยๆ ก็เหมือนลมไม่มีแต่ว่ามันมีอยู่ หากรู้สึกเหมือนว่ามันไม่มีเพราะอะไร? เพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียดมากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมันนี้ เหลือแต่ความรู้อันเดียว ถึงลมมันจะหายไปแล้ว ความรู้สึกที่ว่าลมหายใจก็ตั้งอยู่ทีนี้ จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปเล่า ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก ความรู้ที่ว่าลมไม่มีลมไม่มีอยู่อย่างนี้เสมอนี่แหละเป็นความรู้อันหนึ่ง ในจุดนี้บางคนชอบจะมีความสงสัยขึ้นมาก็ได้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึงมันจะเกิดขึ้นมาได้ตรงนี้ แต่บางคนก็มีบางคนก็ไม่มี จงตั้งใจให้ดีตั้งสติให้มาก บางคนเห็นว่าลมหายใจไม่มีแล้วก็ตกใจเพราะธรรมดาลมมันมีอยู่ เมื่อเราคิดว่าลมไม่มีแล้วก็ตกใจว่าลมไม่มีกลัวว่าเราจะตายก็ได้ ตรงนี้ให้เรารู้ทันมันว่าอันนี้มันเป็นของมันอย่างนี้แล้ว เราจะดูอะไรก็ดูลมไม่มีต่อไปเป็นความรู้ นี่จัดว่าเป็นสมาธิอันแน่วแน่ที่สุดของสมาธิ มีอารมณ์เดียวแน่นอนไม่หวั่นไหว เมื่อสมาธิถึงจุดนี้จะมีความรู้สึกสารพัดอย่างที่มันรู้อยู่ในจิตของเรา เช่นบางทีร่างกายมันก็เบาที่สุดจนบางทีก็เหมือนกับไม่มีร่างกาย คล้ายๆ นั่งอยู่ในอากาศรู้สึกเบาไปทั้งหมด ถึงแม้ที่เรานั่งอยู่ก็ดูเปล่าว่าง อันนี้มันเป็นของแปลกก็ให้เข้าใจว่าไม่เป็นอะไร ทำความรู้สึกอย่างนั้นไว้ให้มั่นคง เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเพราะไม่มีอารมณ์ใดมาเสียดแทง อยู่ไปเท่าใดก็ได้ไม่มีความรู้สึกถึงเวทนาเจ็บปวดอะไร อยู่อย่างนี้เมื่อการทำสมาธิมาถึงตอนนี้ เราจะออกจากสมาธิก็ได้ไม่ออกก็ได้ ออกจากสมาธิก็ออกอย่างสบาย หรือจะไม่ออกเพราะว่าขี้เกียจ ไม่ออกเพราะว่าเหน็ดเหนื่อย หรือจะออกเพราะว่าสมควรแล้วก็ออกมาถอยออกมาถอยออกมา อย่างนี้อยู่สบายออกมาสบายไม่มีอะไรนี่เรียกว่าสมาธิที่สมควรสบาย ถ้าเรามีสมาธิอย่างนี้ อย่างนั่งวันนี้เข้าสมาธิสัก ๓๐ นาทีหรือชั่วโมงหนึ่งจิตใจของเราจะมีความเยือกเย็นไปตั้งหลายวัน เมื่อจิตมีความเยือกเย็นหลายวันนั้น จิตจะสะอาดเห็นอะไรแล้วจะรับพิจารณาทั้งนั้น อันนี้เป็นเบื้องแรกของมันนี้เรียกว่าผลเกิดจากสมาธิ สมาธินี้มีหน้าที่ทำให้สงบ สมาธินี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ศีลนี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ปัญญานี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง อาการที่เรากำหนดในที่นั้นมันจะเป็นวงกลมอย่างนี้ตามที่ปรากฏอยู่ในใจเรา มันจะมีศีลอยู่ตรงนี้มีสมาธิอยู่ตรงนี้มีปัญญาอยู่ตรงนี้ เมื่อจิตเราสงบแล้วมันจะมีการสังวรสำรวมเข้าด้วยปัญญาด้วยกำลังสมาธิ เมื่อสำรวมเข้าละเอียดเข้ามันจะเป็นกำลังช่วย ศีลบริสุทธิ์ขึ้นมามากก็จะช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นมามากให้ดีขึ้นมาก เมื่อสมาธิเต็มที่แล้วมันจะช่วยปัญญาจะช่วยกัน ดังนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันต่อไปโดยรอบอย่างนี้ จนกว่ามรรคคือศีลสมาธิปัญญารวมกันเป็นก้อนเดียวกัน แล้วทำงานสม่ำเสมอกัน เราจะต้องรักษากำลังอย่างนี้อันนี้เป็นกำลังที่จะทำให้เกิดวิปัสนาคือปัญญา สิ่งที่ควรระวัง การทำสมาธินี้อาจให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติได้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ใช้ปัญญาและก็ย่อมให้คุณแก่ผู้ปฏิบัติได้มาก ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีปัญญาสมาธิก็จะส่งจิตไปสู่วิปัสนา สิ่งที่จะเป็นโทษแก่ผู้ปฏิบัตินั้นก็คือ การที่ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นความสงบลึกและมีกำลังอยู่นานที่สุด เมื่อจิตสงบก็เป็นสุขเมื่อเป็นสุขแล้วก็เกิดอุปาทานยึดสุขนั้นเป็นอารมณ์ ไม่อยากจะพิจารณาอย่างอื่นอยากมีสุขอยู่อย่างนั้น เมื่อเรานั่งสมาธินานๆ จิตมันจะถลำเข้าไปง่าย พอเริ่มกำหนดมันก็สงบแล้วก็ไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพิจารณาอะไร อาศัยความสุขนั้นเป็นอยู่อันนี้จึงเป็นอันตรายแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ จิตต้องอาศัยอุปจารสมาธิ คือกำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้วพอสมควรก็ถอนออกมา รู้อาการภายนอกดูอาการภายนอกให้เกิดปัญญา อันนี้ดูยากสักหน่อยหนึ่งเพราะมันคล้ายๆ จะเป็นสังขารความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมาเราอาจเห็นว่าอันนี้มันไม่สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้นมันรู้สึกอยู่ในความสงบ พิจารณาอยู่ในความสงบแล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้นมาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ใช่ว่าคิดเอาหรือเดาเอา มันเป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่าความรู้อยู่ในความสงบ ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่งจิตมันก็ไม่สงบมันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่งมันเป็นความรู้สึกของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่าการพิจารณานี่ปัญญาเกิดตรงนี้ สมาธิทั้งหลายเหล่านี้แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่งคือสมาธิในทางที่ถูกต้อง นี้ก็ให้สังเกตให้ดี มิจฉาสมาธิคือความที่จิตเข้าสู่สมาธิเงียบ..หมด...ไม่รู้อะไรเลยปราศจากความรู้ นั่งอยู่สองชั่วโมงก็ได้กระทั่งวันก็ได้แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหนมันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่องนี่สมาธิอันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ มันก็เหมือนมีดที่เราลับให้คมดีแล้วแต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่เอาไปใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างนั้น ความสงบอันนั้นเป็นความสงบที่หลง คือว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว เห็นว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีกต่อไปจึงเป็นอันตรายเป็นข้าศึก ในขั้นนั้นอันนี้เป็นอันตรายห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหนก็มีความรู้อยู่ตลอดเวลาตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์..รู้ตลอดกาลนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไปในทางอื่นได้ นี้ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้จะต้องรู้แต่ต้นจนปลายทีเดียวจึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้มาก สมาธิชนิดนี้ไม่อันตราย เมื่อเราเจริญสมาธิที่ถูกต้องแล้วอาจจะสงสัยว่ามันจะได้ผลที่ตรงไหน มันจะเกิดปัญญาที่ตรงไหน เพราะท่านตรัสว่าสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา สมาธิที่ถูกต้องเมื่อเจริญแล้วมันจะมีกำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูกดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์เกิดกับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดีนั่งก็ดีนอนก็ดี จิตก็จะไม่เป็นไปตามอารมณ์แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ ฉะนั้น การปฏิบัตินี้เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่เลือกสถานที่จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ตาม จิตมันเกิดปัญญาแล้วเมื่อมีสุขเกิดขึ้นมาก็รู้เท่า มีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้เท่า สุขก็สักว่าสุข ทุกข์ก็สักว่าทุกข์เท่านั้น แล้วก็ปล่อยทั้งสุขและทุกข์ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อสมาธิถูกต้องแล้ว มันทำจิตให้เกิดปัญญาอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา มันก็เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริง นี้เรียกว่าสัมมาปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีอิริยาบถสม่ำเสมอกัน คำว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันนี้ท่านไม่หมายเอาอิริยาบถภายนอกที่ยืนเดินนั่งนอน แต่ท่านหมายเอาทางจิตที่มีสติสัมปชัญญะอยู่นั่นเอง แล้วก็รู้เห็นตามเป็นจริงทุกขณะคือมันไม่หลง ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่งและความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือเกิดจากสมาธิที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญานี้ ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ เพราะว่าความสุขทุกข์นี้เป็นภพเป็นชาติเป็นอุปาทาน จะไม่พ้นจากวัฏฏสงสารเพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์ แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ....คนที่ไม่รู้จักสุขไม่รู้จักทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าสุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ มันคนละราคากัน ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้วท่านจะเห็นว่าสุขเวทนากับทุกขเวทนามันมีราคาเท่าๆ กัน